Surprise! จากขยะพลาสติกใต้ทะเลสู่หมอนอิงมากฟังก์ชั่น

ประกาศผลแล้วสำหรับโครงการ Upcycling the Ocean Thailand กับโจทย์การ upcycling ผ้าที่ทอจากขยะพลาสติกใต้ทะเลไทยให้เป็นสินค้าที่มีดีไซน์ โดยนักออกแบบ 13 ทีมที่เข้าร่วมประกวด


Upcycling the Ocean Thailand เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ ‘จีซี’ , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ มร.ฮาเวียร์ โกเยนิเซ่ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิอีโคอัลฟ์ (Ecoalf) และโครงการ Upcycling the Ocean ที่สร้างจิตสำนึกให้กลุ่มประมงเรือเล็กและประชาชนทั่วไปของสเปน ตระหนักถึงปัญหาขยะในทะเลและร่วมเก็บขยะในทะเล เพื่อนำมาแปรรูปเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นภายใต้แบรนด์ ECOALF ซึ่งเขาได้มีโอกาสมาเล่าถึงเรื่องราวของการสร้างแบรนด์ที่ยั่งยืน ในงาน Sustainable Brands 2016 Bangkok เมื่อสองปีก่อน และการพบปะกันในครั้งนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดโครงการ Upcycling the Ocean Thailand ในเวลาต่อมา

 

13 นักออกแบบพร้อมผลงาน

โดยโครงการ Upcycling the Ocean Thailand มีผู้เข้าร่วมแข่งขันซึ่งเป็นนักออกแบบรุ่นใหม่ส่งผลงานเข้าร่วมคัดเลือกในรอบแรก 30 ทีม และมี 13 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมเวิร์กช็อป และรับโจทย์พร้อมผ้ารีไซเคิลจากโครงการฯเพื่อขึ้นต้นแบบผลิตภัณฑ์ โดยผู้ชนะการประกวดจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท พร้อมโอกาสร่วมผลิตสินค้าจากวัสดุรีไซเคิลแบรนด์ UTO Thailand (Upcyling the Ocean Thailand)

ผ้ารีไซเคิลซึ่งเป็นโจทย์ของผู้เข้าประกวด คือผ้าที่เกิดจากการนำขยะขวดพลาสติกมาผ่านกระบวนการทางเคมี แปลงเป็นเส้นใย ทอเป็นผืนผ้าโพลีเอสเตอร์ โดยนักออกแบบต้องนำผ้าที่ได้รับมาสร้างสรรค์ผลงาน 2 ชิ้น ชิ้นแรกเปิดกว้างให้ออกแบบอย่างอิสระ ส่วนอีกชิ้นให้ออกแบบเป็นของที่ระลึก โดยนักออกแบบต้องคำนึงถึงการสร้างคุณค่าให้ชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร โดยที่ต้องไม่ลืมใส่ประโยชน์ใช้สอยและอารมณ์ความรู้สึกลงไปในผลิตภัณฑ์ด้วย ซึ่งเกณฑ์การตัดสินประกอบไปด้วยคะแนนความคิดสร้างสรรค์ ความสวยงาม ใช้ประโยชน์ได้จริง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

ภควัฒน์ สุวรรณ ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ เจ้าของผลงาน ‘3 in 1 Cushion’ หรือ “หมอนอิง”

ด้วยการสร้างมูลค่าให้วัสดุ (upcycling) เป็นอะไรที่มากกว่าการรีไซเคิล (recycling) ผ้าที่ได้รับจึงแตกยอดไปสู่ความคิดสร้างสรรค์โดยนักออกแบบทั้ง 13 ทีม ในวันนำเสนอผลงานซึ่งเป็นวันเดียวกับการประกาศผล ผ้าเหล่านั้นได้แสดงตัวออกมาในรูปลักษณ์ใหม่ที่แตกต่างกันไป ทั้งกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า ของใช้ และแอคเซสซอรีส์ต่างๆ ที่หลากหลายประโยชน์การใช้งาน

ภควัฒน์ สุวรรณ เจ้าของผลงาน ‘3 in 1 Cushion’ หรือ “หมอนอิง” ผ้าห่มซึ่งคลี่ออกเป็นถุงนอนได้ และกระเป๋า คว้ารางวัลไปด้วยไอเดียที่ชนะใจกรรมการ ด้วยการสร้างความหมายใหม่ให้เกิดขึ้นทุกตารางนิ้วบนผืนผ้า กับแนวคิดตั้งต้น ‘Good Waste for Good Life is a Happiness’

เขาเริ่มต้นกระบวนการทำงานด้วยการนำผ้ามาทดสอบโดยการซักกับน้ำสบู่อย่างอ่อน เพื่อดูสัมผัสของเนื้อผ้าเมื่อต้องมาใช้กับผิวกายมนุษย์ จึงพบว่าคุณสมบัติของโพลีเอสเตอร์ที่แปรรูปจากขยะนั้นมีคุณสมบัติที่แห้งเร็ว ซักง่าย และโอกาสในการยับเพียง 10 เปอร์เซ็นต์นั้นก็ยังคลายตัวได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงนำมาไปทดสอบสกรีน ออกแบบและคำนวณสัดส่วนเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานของคนกลุ่มใหญ่ ใส่ใยสังเคราะห์เข้าไป 100 กรัม จนออกมาเป็นผืนผ้าที่ใช้งานได้หลายฟังก์ชั่น ที่สกรีนลวดลายสองแบบเพื่อแชร์ประสบการณ์ความสุขของเขากับท้องทะเลเอาไว้บนนั้น

 

สองหนุ่มสาว ธนวรรณ สำลีรัตน์ และไบรอัน คาร์ราเวย์ เจ้าของรางวัลออกแบบของชำร่วย ในผลงาน‘Takra Bike Bag’

นอกจากประโยชน์ที่ใช้งานได้จริงและหลากหลายฟังก์ชั่น เขายังเก็บรายละเอียดส่วนประกอบเล็กๆ น้อยๆ ของผลิตภัณฑ์อย่างไม่ยอมให้มีสิ่งใดปราศจากความหมาย อาทิ ข้อความปลุกจิตสำนึกที่สกรีนลงในส่วนต่างๆ เช่น ‘Good Waste for Good Life is a Happiness’, ‘Please Don’t Waste the Things’ ซึ่งผ้าผืนนี้จะพับตัวอยู่ในกระเป๋า ที่ออกแบบให้เป็นกระเป๋าหิ้วหมอนอิงไปด้วยในตัวโดยไม่ต้องอาศัยถุงอีกใบในการบรรจุ และมีกระเป๋าเล็กกระเป๋าน้อยเพื่อการใช้สอยให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมข้อความต่างๆ ที่บ่งบอกถึงการใช้งานและวิธีดูแล

ส่วนของชำร่วยซึ่งโจทย์ของการออกแบบกำหนดราคาการผลิตไว้ที่ไม่เกิน 250 บาทนั้น รางวัลที่จะนำไปสู่การผลิตจริง ตกเป็นของสองหนุ่มสาว ธนวรรณ สำลีรัตน์ และ ไบรอัน คาร์ราเวย์ ทั้งคู่ออกแบบ ‘Takra Bike Bag’

ทั้งนี้ ธนวรรณ สำลีรัตน์ สาวบางกระเจ้าโดยกำเนิดขบคิดไอเดียนี้โดยดึงเอาความเป็นเจ้าบ้านที่เข้าใจวิถีของคนท้องถิ่นเป็นอย่างดี เธอออกแบบกระเป๋าผ้ารูปขวด ซึ่งมีซ่อนความหมายถึงการคืนชีวิตให้ขวดที่ตายไปแล้วได้กลับมาเป็นกระเป๋าผ้าใบใหม่ และเรียกมันว่า ‘ตะกร้า’ เพื่อเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นี่ซึ่งเธอคุ้นเคยเมื่อยังเล็ก กับภาพที่คนไปไหนมาไหนก็มักหิ้วตะกร้าติดมือไปด้วย ต่างปัจจุบันที่คนนิยมใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแทน ซึ่งต่อมาได้สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและในทะเล

 

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการโครงการ Sustainable Brands Bangkok

สีทั้งสองสีที่เลือกนำมาใช้ บอกความหมายที่ต้องการสื่อ สีน้ำเงินเนวี่เป็นตัวแทนของท้องทะเลซึ่งเป็นที่มาของขยะขวดพลาสติกอันเป็นวัสดุที่ใช้ผลิตเป็นผ้า สีเขียวแทนความเป็นพื้นที่สีเขียวของบางกระเจ้า พื้นที่เป็นลายคลื่นทั้งสองด้านตอกย้ำว่ามาจากน้ำ กลายเป็นสีที่สบายตาน่าใช้ และอีกฟังก์ชั่นที่สำคัญของกระเป๋านอกจากใช้ใส่ข้าวของต่างๆ นั้น คือแผนที่บางกระเจ้าบนกระเป๋าซึ่งวาดขึ้นใหม่ แสดงสถานที่สำคัญโดยมีสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของบางกระเจ้าอีกสองสิ่ง คือมะม่วงน้ำดอกไม้พันธุ์สีนวล และหิ่งห้อยซึ่งมีแหล่งอนุรักษ์อยู่ที่ปอดกลางน้ำแห่งนี้

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการโครงการ Sustainable Brands Bangkok กล่าวถึงผลงานซึ่งได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่า “เหตุผลที่เลือกผลงาน ‘3 in 1 Cushion’ ที่ออกแบบหมอน ผ้าห่ม และกระเป๋า เนื่องจากภายใต้ โปรเจ็กต์ Upcycling the Ocean จะมีการจัดกิจกรรมริมทะเลเป็นส่วนใหญ่ และผลงานการออกแบบชุดนี้ตอบโจทย์โปรเจ็กต์นี้ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ ‘Takra Bike Bag’ นั้นก็ตอบโจทย์ในแง่การเชิญชวนให้คนเที่ยวบางกระเจ้า การที่เราไปจัดงาน SB 2018 ที่บางกระเจ้า ก็เพราะเราต้องการให้คนได้เห็นบางกระเจ้าแล้วเกิดความรู้สึกรักและหวงแหนบางกระเจ้า และเวลาที่เราจะชวนคนไปเที่ยวบางกระเจ้า ในการอธิบายที่มาที่ไปก็ต้องมีแผนที่ และชี้จุดที่น่าสนใจของบางกระเจ้าได้ ผลงานชิ้นนี้จึงตอบโจทย์ในเรื่องของการให้ข้อมูลที่เราจะต้องนำไปใช้”

กิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการฝ่าย หน่วยงานพัฒนาตลาดธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “นักออกแบบทุกคนที่นำเสนองานเข้ามามีความคิดสร้างสรรค์ แม้จะมีเวลาในการทำงานสั้นมากแต่ก็สามารถสร้างชิ้นงานออกมาได้อย่างน่าประทับใจ หลายชิ้นพร้อมสำหรับผลิตจริงแล้ว บางชิ้นต้องมาช่วยกันพัฒนาต่อ ซึ่ง Customer Solution Center ของเราเป็นศูนย์ที่รองรับและให้การสนับสนุนอยู่แล้ว สิ่งที่เราตั้งใจคือต้องการสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มจากขยะ แล้วผลงานของพวกเขาก็เกิดเป็นมูลค่าเพิ่มจริงๆ”

 

โฉมหน้่าคณะกรรมการที่ตัดสินผลงานประกวด

ด้าน สมชนะ กังวาลจิตร นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ระดับโลก หนึ่งในคณะกรรมการผู้ตัดสิน กล่าวว่า “เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ การจะใช้วัสดุเหล่านี้จึงต้องเรียนรู้ให้มากก่อนเพราะมันมีข้อจำกัด เช่น อาจจะพิมพ์ลายได้ แต่ย้อมไม่ได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายเทคนิคที่เราสามารถทำได้ ผลงานที่ส่งเข้ามาในครั้งนี้เรียกได้ว่ามีจุดเริ่มต้นที่ดีมาก งานทุกชิ้นน่าสนใจและสามารถต่อยอดจากผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ได้ และโครงการนี้เป็นโครงการที่ฉลาด สามารถเป็นแรงกระเพื่อมให้คนที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ได้นำแนวคิดการสร้างมูลค่าจากขยะไปทำต่อ ดีไซเนอร์คนไหนที่สนใจจะเริ่มใช้แนวคิดนี้ในตอนนี้นับเป็นโอกาสที่ดี หากคิดว่าเวิร์ก แล้วทำ ในอนาคตมีคนสนใจแน่นอน”

พบกับผลงานเข้าประกวดทั้งหมดของโครงการ ‘SB’18 Bangkok Redesigning the Good Waste’ ได้ในงาน Sustainable Brands 2018 Bangkok งานสัมมนาที่จะเปิดมุมมอง เรียนรู้จากกรณีศึกษา และรับองค์ความรู้ใหม่ๆ จากผู้นำความคิดแถวหน้าทั่วโลก ในวันที่ 12-13 ตุลาคมนี้ ณ พิพิธภัณฑ์ปลากัด บางกระเจ้า แหล่งโอโซนใกล้เมือง เพียง 5 นาทีโดยสารด้วยเรือข้ามฟากจากท่าเรือคลองเตยนอก

Stay Connected
Latest News