เอสซีจี ร่วมกับชุมชนบ้านยางโทน อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี และมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี พร้อมหน่วยงานภาครัฐครั้งนี้ นับเป็นการต่อยอดองค์ความรู้สู่สถานีเรียนรู้ฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ ส่งเสริมอาชีพชุมชนให้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลผลิตที่มาจากฝาย และผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มุ่งสร้างรายได้ให้ชุมชนตลอดทั้งปี
เอสซีจีได้น้อมนำและสืบสานพระราชดำริ “จากภูผา สู่มหานที”เป็นแนวทางในการรักษาดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ที่เอสซีจีเข้าไปดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำผ่านกระบวนการสร้าง ความรัก-ความเข้าใจ และส่งเสริมให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ บริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี มีฐานสำคัญในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้ทำงานเรื่องสร้างฝายกับชุมชนตั้งแต่ปี 2552 เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่แห้งแล้งจากการแผ้วถางป่าสำหรับขยายพื้นที่ทำกินถึงปี 2560 ได้ร่วมกับชุมชนและเยาวชนชุมชนบ้านเขามุสิ อำเภอหนองปรือประกาศความสำเร็จจากการสร้างฝายเพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ฟื้นคืนสมดุลป่าและมีความตั้งใจที่จะพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอนาคต
“ในปี2561 นี้ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างชุมชนบ้านยางโทน อำเภอไทรโยคที่เราเคยทำงานร่วมกันตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเห็นผลแล้วว่า ฝายช่วยฟื้นสภาพพื้นที่ให้เป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากนี้ไป เอสซีจีมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมชุมชนให้พัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตจากฝาย เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ได้ตลอดทั้งปี ที่สำคัญได้ต่อยอดความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำสู่การงานวิจัยเชิงวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี”
แสงชัย วิริยะอำไพวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ขยายความต่อว่า จากการสร้างฝายในพื้นที่ป่าต้นน้ำบริเวณเขตพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ทำให้เห็นผลเชิงประจักษ์ สามารถอ้างอิงและเผยแพร่ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับชุมชนในพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาใกล้เคียงกันต่อไป
ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรีมีการเสวนา Ecology Talk ในหัวข้อ “ฝายชะลอน้ำพลิกฟื้นระบบนิเวศ คืนสมดุล คน-น้ำ-ป่า ยั่งยืน” โดยผศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเต้นยิ้ว วชิรพันธ์วิชาญ ประธานป่าชุมชนบ้านยางโทนเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวจากการศึกษางานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการเผยแพร่องค์ความรู้สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ ในพื้นที่ป่ารอบมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี โดยความร่วมมือของชุมชน ภาคีเครือข่าย และกลุ่มคนรักษ์น้ำจิตอาสาที่ได้รับคัดเลือกจากการสมัครเข้าร่วมกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook SCG ที่พร้อมจะสานต่อแนวคิดและการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงผลจากการทำงานสร้างฝายประมาณ 8-9 ปีที่ผ่านมา จากจุดเริ่มต้นเพียง 10 ฝายได้ขยายเพิ่มเป็น100 ฝาย เพื่อแก้ปัญหาสภาพป่าเสื่อมโทรมรอบมหาวิทยาลัย และเมื่อฝนตกหนักหน้าดินจะถูกชะล้างลงไปยังพื้นที่ด้านล่างสร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนปัจจุบันนักศึกษาและจิตอาสาได้ร่วมกันสร้างไปแล้ว 354 ฝาย
ระหว่างการสร้างฝายมหาวิทยาลัยฯ เอสซีจีจึงได้ร่วมมือกันทำงานวิจัยเชิงวิชาการ ภายใต้โครงการ การติดตามตรวจสอบทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการจัดการฝายอย่างยั่งยืนเพื่อศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และความหลากหลายของสัตว์ รวมถึงประโยชน์จากฝายที่เกิดขึ้นกับชุมชน
“ผลจากงานวิจัยได้พบว่า ชาฤาษีไทรโยคเป็นดัชนีชี้วัดสิ่งแวดล้อมที่สำคัญทางระบบนิเวศซึ่งพบแหล่งเดียวในโลกพืชชนิดนี้จะขึ้นในป่าที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์เท่านั้น อีกทั้งยังพบการกลับมาของเสือลายเมฆซึ่งเป็นสัตว์ที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์ สะท้อนให้เห็นว่าการสร้างฝายมีส่วนสำคัญที่ช่วยฟื้นให้ระบบนิเวศของป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัชวีร์ ขยายความต่อเนื่องว่า ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่กลับคืนมาทำให้ผลผลิตจากป่าทั้งหน่อไม้ ไผ่รวก เห็ดโคน และผักหวานกลายเป็นทั้งอาหารและรายได้ให้กับชุมชน ครอบครัวละกว่า 100,000 บาทต่อปีรวมถึงฝายยังทำหน้าที่ช่วยดักตะกอนดินไม่ให้ไหลลงไปสร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชนเช่นที่ผ่านมาได้อีกด้วย
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยฯ และเอสซีจี ได้ร่วมกันจัดตั้ง “สถานีเรียนรู้ฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ”เพื่อรวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการทำฝายและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องให้แก่ชุมชนและผู้ที่สนใจได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป และมีเป้าหมายจะสร้างฝายให้ครบ 500 ฝายในปี 2561 นี้
ณรงค์ รักร้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี อธิบายว่า จังหวัดกาญจนบุรีเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชไร่ที่สำคัญแหล่งหนึ่งของประเทศนับเป็นความท้าทายที่สำคัญของภาครัฐเช่นกันที่ต้องเร่งสร้างจิตสำนึกให้คนอยู่กับป่าแบบพึ่งพาอาศัยกันให้ได้มากที่สุด
“ผมเชื่อมั่นว่า ความสำเร็จจากการดูแลพื้นที่ต้นน้ำด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำของทั้งชุมชนบ้านเขามุสิและชุมชนบ้านยางโทนในวันนี้ รวมถึงผลงานวิจัยทางวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดลฯ เป็นบทเรียนและต้นแบบความร่วมมือที่แสดงให้เห็นถึงพลังของชุมชน มหาวิทยาลัยมหิดลฯ และเอสซีจี ในฐานะภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ชุมชนอื่นๆ ที่ประสบปัญหาคล้ายกัน ได้นำแนวคิดไปปรับใช้แก้ปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ด้วยตนเองให้ประสบผลสำเร็จ และขยายผลต่อไป จนเกิดการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนในอนาคต”
เอสซีจี จะยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้เกิดพลังที่เข้มแข็งเพื่อร่วมกันสร้างต้นน้ำที่ดีสู่ปลายน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ก่อเกิดเป็นความสมดุลที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในทุกพื้นที่ พร้อมถ่ายทอดและต่อยอดแนวความคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนสำคัญของทุกชีวิตนี้ให้คงอยู่ต่อไป