SB’18 Bangkok คัด 13 นักออกแบบ Upcycling ขยะพลาสติกให้เป็นงานผ้าดีไซน์

เริ่มนับถอยหลังกับงานสัมมนาธุรกิจระดับนานาชาติ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน SB’18 Bangkok  ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ระหว่างวันที่ 12-13 ต.ค.นี้ ณ ชุมชนบางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ ภายใต้คอนเซ็ปหลัก “Redesigning the Good Life”

แต่ก่อนจะถึงวันจริง ดร. ศิริกุล เลากัยกุล แม่งานขออุ่นเครื่องกับกิจกรรมแรก “SB’18 Bangkok Redesigning the Good Waste” โดยการเชิญชวนกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ มาร่วมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากผ้าที่ได้จากโครงการ Upcycling The Oceans Thailand ซึ่งเป็นผ้าที่ทอจากขยะพลาสติกใต้ทะเลไทย และเป็นหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ระดับโลก เพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างมูลค่าเพิ่ม และมีประโยชน์ใช้สอยได้อย่างแท้จริง

 

ดร. ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการโครงการ Sustainable Brands Bangkok

 

การประกวดครั้งนี้มีนักออกแบบรุ่นใหม่ส่งผลงานเข้าร่วมการคัดเลือกรอบแรกถึง 30 ทีม โดยมี 13 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมเวิร์คช็อป และรับโจทย์พร้อมกับรับผ้ารีไซเคิลจากโครงการ เพื่อขึ้นต้นแบบผลิตภัณฑ์ เมื่อเร็วๆ นี้ ก่อนนำส่งผลงานเข้าประกวดในวันที่ 25 สิงหาคม โดยผู้ชนะการประกวดจะมีโอกาสได้ร่วมผลิตสินค้าจากวัสดุรีไซเคิลกับแบรนด์ UTO Thailand (Upcycling The Oceans Thailand) พร้อมได้จัดแสดงผลงานในงานประชุม SB’18 Bangkok

 

โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้วิทยากรระดับกูรูเข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบโดยใช้วัสดุแปรรูปจากท้อง เริ่มจาก ดร. ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการโครงการ Sustainable Brands Bangkok กล่าวถึงการสร้างแบรนด์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันมีความจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ เพื่อให้มีส่วนในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

“เรามีต้นทุนทางความคิด ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในเรื่องของการสร้างความยั่งยืน โดยในปีนี้ SB’18 ให้ความสำคัญกับการ Redesigning the Good Life ครอบคลุม 6 หัวข้อ ได้แก่ Good Leader, Good Design, Good Waste, Good Tourism, Good Green, and Good Technology สำหรับการประกวดครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Good Design โดยนักออกแบบต้องแสดงให้เห็นว่า ผลงานชิ้นนั้นๆ จะสร้างคุณค่าให้ชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร การสร้างมูลค่าให้วัสดุ (upcycling) เป็นอะไรที่มากกว่า การรีไซเคิล (recycling)”

 

มร. ฮาเวียร์ โกเยนิเช่ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิอีโคอัลฟ์

 

มร. ฮาเวียร์ โกเยนิเช่ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิอีโคอัลฟ์ เป็นผู้ริเริ่มนำขยะมาสร้างสรรค์เป็นสินค้าแฟชั่น ภายใต้แบรนด์อีโคอัลฟ์ (Ecoalf) จากประเทศสเปน ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวกับภาพลักษณ์สินค้าดีไซน์เท่ห์ คุณภาพดี รักษ์สิ่งแวดล้อม และใช้งานได้จริง โดยวัสดุทั้งหมด 100% ที่นำมาผลิตได้มาจากขยะรีไซเคิล ได้รับความร่วมมือจากชาวประมงในการเก็บรวบรวมขยะจากท้องทะเล โดยเฉพาะขวดพลาสติก หรือแม้แต่ยางรถยนต์เก่าที่คนเอาไปทิ้งในทะเล นำมาสร้างมูลค่าให้วัสดุ หรือ Upcycling และออกแบบใหม่เป็นเสื้อผ้า กระเป๋า และรองเท้าแตะ เช่น แจ็กเก็ต 1 ตัว ใช้จำนวนขวดพลาสติกถึง 80 ขวด เป็นการสร้างความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านสินค้าแฟชั่นที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่คนทั่วโลกสามารถเข้าใจได้ร่วมกัน นอกจากนี้ในฐานะผู้ก่อตั้งโครงการ Upcycling The Ocean ฮาเวียร์ยังมีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ทะเลไทย ผ่านโครงการ Upcycling The Ocean Thailand

 

ฮาเวียร์ กล่าวว่า “คนรุ่นใหม่นอกจากจะให้ความสนใจในเรื่องราวแฟชั่น การใช้ชีวิต และการผสมผสานเทคโนโลยี ยังมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนั้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุรีไซเคิลอย่างมีคุณภาพจึงเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมากเช่นกัน”

 

(จากซ้าย) กิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์, ดร. ศิริกุล เลากัยกุล, ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ และ ฮาเวียร์ โกเยนิเซ่

 

ในส่วนของผู้นำด้านเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกและปิโตรเคมี กิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการฝ่าย หน่วยงานพัฒนาตลาดธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ก่อประโยชน์สูงสุด

“ขยะพลาสติก คือ หลักฐานของคนที่ไม่มีวินัย ไม่ว่าทิ้งขยะลงแม่น้ำหรือชายฝั่ง ปลายทางคือลงสู่ท้องทะเล การสร้างจิตสำนึกเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกัน ประเทศไทยมีโปรเจคเรื่องการรีไซเคิลมานานแล้ว ในอดีตเราใช้การรีไซเคิลเพื่อลดต้นทุน แต่ปัจจุบันแนวโน้มนี้เปลี่ยนไปมาก การ upcycling คือการสร้างมูลค้าเพิ่มให้กับสินค้าให้กลับกลายมีคุณค่าที่มากกว่า เช่น นำขยะขวดพลาสติกมาผ่านกระบวนการทางเคมี แปลงเป็นเส้นใย ทอเป็นผืนผ้าโพลีเยสเตอร์ แล้วนำมา redesign เป็นสินค้าแฟชั่น เช่น กางเกงว่ายน้ำ เสื้อกีฬา กระเป๋า แม้แต่สินค้าพรีเมี่ยม คุณภาพสูง ติดแบรนด์ชั้นนำ ก็จะเป็นสินค้าที่ทุกคนอยากได้  ท่ามกลางวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน และปัญหามลภาวะของสิ่งแวดล้อม ทำให้แนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy จำเป็นสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

 

 

ปิดท้ายที่ดร.ศิริกุล  ให้กำลังใจผู้ได้รับคัดเลือกเข้าแข่งขันว่า “อาชีพนักออกแบบเป็นวิชาชีพที่เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนทัศนคติ และเปลี่ยนโลกได้ ด้วยการทำสินค้าให้เกิดการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ (responsible consumption) เป็นต้นแบบของการแบ่งปัน เนื่องจากทรัพยากรไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่เรามีความสามารถพอที่จะหมุนเวียนทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดหรือไม่ นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่าเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) การสร้างมูลค่าให้วัสดุด้วยการ Redesigning the Good Waste โดยที่ต้องไม่ลืมใส่ประโยชน์ใช้สอยและอารมณ์ความรู้สึก จึงเป็นวิธีการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกรูปแบบหนึ่ง”

 

Stay Connected
Latest News