CSR ปั้นเชฟรุ่นใหม่ แล้วเชฟตั้งเป้าช่วยเหลือสังคม เหมือนที่ได้รับโอกาส !

กิจกรรม CSR ที่หลาย ๆ องค์กรจัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคม มักจะถูกมองว่าเป็นความช่วยเหลือที่ไม่ยั่งยืน แต่สำหรับกรณีของ โรงแรมดิ โอกุระ ที่ปั้นเชฟมือใหม่นั้น กลับจุดประกายให้ “ผู้รับ”อย่างเชฟป๊อป สืบทอดกิจกรรม CSR ช่วยเหลือสังคมสืบต่อไป

เมื่อปีที่แล้ว โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรม CSR เพื่อฉลองในวาระเปิดกิจการมาครบ 5 ปี โดยการจัดประกวดแข่งขันทำอาหารระดับนักศึกษา ผู้ชนะเลิศจะได้รับทุนไปฝึกงานกับห้องอาหารระดับมิชลิน ที่โรงแรม โฮเทล โอกุระ อัมสเตอร์ดัม ถือเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ แต่กลับสร้างคุณูปการให้กับนักศึกษาสายอาชีพเชฟอย่างมา

สำหรับปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 ซึ่งทางโรงแรมจัดประกวดอย่างต่อเนื่อง โดย เอ็ดเวิร์ด อี นุ๊ก ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ กล่าวสรุปถึงการแข่งขันว่า

เอ็ดเวิร์ด อี นุ๊ก(ขวาสุด)และเชฟ ชิเงรุ ฮางิวาระ (ซ้ายสุด) และผู้เข้าร่วมแข่งขันในปีนี้

“ ปีนี้นักศึกษาที่เข้าแข่งขันมีครีเอทีฟในการทำอาหารมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับเชฟรุ่นใหม่ และเป็นโอกาสดีที่พวกเขาจะได้ประสบการณ์ที่หาจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว สำหรับแผนการประกวดปีหน้า นอกจากจะให้ทุนนักศึกษาไปฝึกงานกับห้องอาหารมิชลินที่โรงแรม โฮเทล โอกุระ อัมสเตอร์ดัมเหมือนเช่นเคยแล้ว ทางเรากำลังดูว่าห้องอาหารดิ อีเลเม้นต์ รร.ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงทเพฯก็เพิ่งได้มิชลินเหมือนกัน เราอาจจะให้นักศึกษามาฝึกงานที่นี่ในปีต่อไปก็ได้ ”

สำหรับชื่อผู้ชนะเลิศจากการแข่งขันทำอาหารครั้งที่ 2 คือ วิศรุต อรุณศรี จากวิทยาลัยดุสิตธานี ได้รับถ้วยรางวัลเกียรติยศทำมาจากถ้วยสาเกไม้ ตั้งอยู่บนฐานที่ถูกออกแบบให้มีลักษณะเหมือนภูเขาไฟฟูจิ ซึ่งชาวญี่ปุ่นมักจะใช้อ้างอิงถึงความเป็นที่หนึ่ง หรือ ‘Ichi Ban’ (อิจิบัง) จากเชฟ ชิเงรุ ฮางิวาระ หัวหน้าพ่อครัว ประจำห้องอาหารยามาซาโตะ

อาหารญี่ปุ่นจากฝีมือการรังสรรค์ของเชฟผู้แข่งขันทั้ง 5 คน

นอกจากนั้น ยังได้รับรางวัลใหญ่เป็นทุนไปศึกษาดูงาน 9 วันที่โรงแรม โฮเทล โอกุระ อัมสเตอร์ดัม (Hotel Okura Amsterdam) รางวัลรวมตั๋วเครื่องบิน ไป กลับ กรุงเทพฯ – อัมสเตอร์ดัม พร้อมที่พักที่ โรงแรม โฮเทล โอกุระ อัมสเตอร์ดัม 8 คืน มื้ออาหารกลางวันสุดพิเศษที่ห้องอาหารยามาซาโตะ (Yamazato) 1 มื้อ มื้ออาหารค่ำที่ห้องอาหารซีเอลเบลอ (Ciel Bleu) 1 มื้อ โปรแกรมท่องเที่ยวในอัมสเตอร์ดัม 1 วัน การจัดทำวีซ่า ประกันการเดินทาง เงินรางวัล 10,000 บาท และโปรแกรมการเรียนรู้การทำอาหารในครัวกับเชฟโอะโนะ ค็อกไมเยอร์ (Chef Onno Kokmeijer) เชฟชื่อดังจากห้องอาหารซีเอลเบลอ ซึ่งเป็นห้องอาหารที่ได้รับดาวเกียรติยศมิชลินสตาร์ระดับ 2 ดาวและเป็นเชฟที่ได้รับรางวัลเป็นตำแหน่ง เอส วี เอช มีสเทอเชฟ (SVH Meesterchef) หรือ มาสเตอร์ เชฟ (Master Chef)

แม้จะเป็นแค่กิจกรรม CSR เล็ก ๆ ที่ช่วยจุดประกายให้กับเชฟรุ่นใหม่ ๆ แต่ก็ถือเป็นการสร้างเชฟให้กับวงการร้านอาหารและโรงแรม ที่ขณะนี้มีการแย่งตัวเชฟเก่ง ๆ อย่างรุนแรง

“เชฟป๊อป” พิชชากร รามบุตร เป็นต้นกล้าต้นแรกที่โรงแรม ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ ได้ปลูกไว้ เธอคือผู้ชนะเลิศการแข่งขันในปีแรก และมีโอกาสไปฝึกงานที่ห้องอาหารซีเอลเบลอ โรงแรม โฮเทล โอกุระ อัมสเตอร์ดัม เป็นเวลา 9 วัน วันนี้ถือว่าครบรอบ 1 ปีที่น้องป๊อปได้ไปฝึกงานกลับมา ลองมาดูว่า 9 วันกับประสบการณ์อันมีค่า เธอได้เรียนรู้อะไรจากห้องอาหารมิชลิน 2 ดาวกันบ้าง

“ หลัก ๆ คือได้ไปเรียนรู้การบริหารจัดการในครัว เราจะต้องทำงานเหมือนทีมเชฟในครัวจริง เข้างานตั้งแต่เที่ยงวันเลิกงานเที่ยงคืน และทำงานตามที่เชฟได้มอบหมายให้ตามสมควรกับความสามารถของเรา สิ่งที่ได้เรียนรู้จากเชฟทั้ง 2 คนที่ได้มิชลิน 2 ดาว Onno Kokmeijer และ Arjan Speelman คือ ความขยัน ใส่ใจทุกรายละเอียดของอาหารทุกจาน เข้มงวดเรื่องการทำงาน และสะอาดมาก”

แม้จะมีเวลาเพียง 9 วันที่จะได้เรียนรู้ประสบการณ์จากเชฟระดับมิชลิน แต่ก็มากพอที่จะทำให้น้องป๊อปได้กลับมาค้นหาเส้นทางเชฟของตัวเอง และในที่สุดเธอก็ค้นพบว่าอยากเป็นเชฟอาหารไทย เพราะด้วยประสบการณ์ของน้องป๊อปที่เคยผ่านการเรียนทำอาหารที่สถาบัน OHAP และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ทำให้น้องป๊อปอยากเปิดร้านอาหารไทย

เชฟป๊อป ขณะฝึกงานที่ห้องอาหารซีเอลเบลอ กรุงอัมสเตอร์ดัม
“ ป๊อปได้รับการจุดประกายจากห้องอาหารยามาซาโตและห้องอาหารซีเอลเบลอ ที่เลือกแต่วัตถุดิบที่ดีจากแหล่งผลิตที่ดีที่สุด เพราะการทำอาหารให้อร่อย ต้องเริ่มจากวัตถุดิบที่ดีก่อน เลยมองเห็นคุณค่าวัตถุดิบของดีจากเมืองไทย”

ในอนาคตอันใกล้นี้ น้องป๊อปก็จะกลายมาเป็นเจ้าของร้านอาหารไทยสไตล์ร่วมสมัย ที่คงรสชาติดั้งเดิมแต่เน้นการตกแต่งร่วมสมัย ซึ่งจะนำแนวคิดที่ได้จากการดูงานมิชลินมาใช้

“ เรื่องอาหารเป็นเรื่องกว้างมาก ถ้าเรานำอาหารอย่างหนึ่งมาจับคู่กับวัตถุดิบอีกอย่างหนึ่ง เราก็จะได้เมนูแปลกใหม่ขึ้นมา เหมือนกับที่เชฟมิชลิน สามารถนำดอกไม้มาทำอาหารได้”

ภาระกิจหนักของเชฟหน้าใหม่ในวันนี้คือ การตามหาวัตถุดิบ

“ อาหารของที่ร้านจะอิงความเป็นท้องถิ่นมากขึ้น อยากไปดูวิถีชีวิต วิถีการกินอยู่ของคนท้องถิ่นที่คนเมืองอย่างเราไม่เคยเห็นมาแปลงเป็นสไตล์ของเรา เพื่อคนไทยจะได้กินอาหารหลากหลายที่มีมิติมากขึ้น เช่นทางเหนือเมื่อถึงหน้าลิ้นจี่ก็จะแกงเขียวหวานกับลิ้นจี่ เพื่อใช้ความหวานของลิ้นจี่แทนการใส่น้ำตาลปี๊บ เป็นต้น”

ก่อนจบการสนทนากับเชฟมือใหม่ไฟแรง เชฟป๊อปได้กล่าวทิ้งท้าย

“เมื่อร้านอาหารประสบความสำเร็จแล้ว ป๊อปอยากทำ CSR กลับคืนให้สังคมค่ะ อยากช่วยท้องถิ่นที่เราไปใช้วัตถุดิบจากเขาเพื่อมาทำอาหารอร่อย ๆ อยากช่วยเกษตรกร และอยากช่วยพนักงานให้ทุกคนสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ นี่คือความฝันอันสูงสุดค่ะ”

เริ่มต้นจาก CSR เล็ก ๆ ที่ โรงแรม ดิ โอกุระ เป็นผู้จุดประกาย ส่งผ่านไปยังเชฟป๊อป เชฟมือใหม่ที่ต่อยอด CSR ให้กลายเป็นความช่วยเหลือที่กว้างไกลที่ไม่สิ้นสุด

ข่าวเกี่ยวข้อง

Stay Connected
Latest News