ด้วยแนวคิด Circular Economy: The Future We Create มีองค์กรชั้นนำระดับโลกภาครัฐภาคประชาสังคมผู้ประกอบการ SME สตาร์ทอัพชุมชน ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและต้นแบบความสำเร็จ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบสู่การเติบโตอย่างสมดุลของธุรกิจ คุณภาพชีวิต และอนาคตโลกที่ยั่งยืน
จากข้อมูลเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้ความต้องการใช้ทรัพยากรเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยคาดว่าในปี พ.ศ. 2573 ความต้องการใช้ทรัพยากรของโลกจะสูงถึง 3 เท่าของปริมาณทรัพยากรที่มีอยู่ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนที่จะต้องใช้ทรัพยากรโลกผลิตสินค้าป้อนความต้องการของโลก พร้อมๆ กับสิ่งที่ตามมาจากการเติบโตดังกล่าวคือ การเกิดขยะทุกรูปแบบ เฉพาะประเทศไทย ปัจจุบันคนไทย 1 คน จะสร้างขยะเฉลี่ยถึงวันละ 1.1 กิโลกรัม ซึ่งจริงๆ แล้วขยะดังกล่าวสามารถนำกลับมาใช้ได้ 60% แต่นำกลับมาใช้ได้จริงเพียง 31% ย่อมหมายถึงการที่ไม่ได้ตระหนักในเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างจริงจัง
ในขณะที่ขยะเป็นปัญหาหนึ่งของประเทศไทยในการใช้ทรัพยากรของโลกที่สูงขึ้น มุมมองและประสบการณ์จากยุโรป ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่กระตุ้นให้ต้องหันมาใส่ใจ รวมถึงปัญหาน้ำท่วม ล่าสุดระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งเมตร การวัดผลคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศวันนี้อยู่ที่ระดับ 411 ppm ในเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ถ้าเรายังคงใช้ทรัพยากรในการผลิตแบบนี้เราก็เสี่ยงที่ทรัพยากรจะหมดโลก
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นความจำเป็นที่เปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy )ที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มกำไรของระบบเศรษฐกิจให้มากที่สุดเท่านั้นแต่ทรัพยากรที่นำมาใช้ในการผลิตและส่งมอบให้ผู้บริโภคใช้จนสิ้นอายุจะขาดการจัดการที่เหมาะสมและไม่ได้นำมาหมุนเวียนใช้เป็นวัตถุดิบอีก ให้กลายเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการของเสียที่บริโภคแล้ววัตถุดิบ สินค้าที่หมดอายุ และพลังงาน ให้ถูกนำกลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม โดยนำไปเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (Re-Process) ผ่านการออกแบบใหม่ (Re-Design) การสร้างคุณค่าใหม่ (Added Value) การสร้างนวัตกรรมใหม่ (Innovation) การสร้างความร่วมมือ (Collaboration) เพิ่มขึ้นทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และการใช้ซ้ำ (Reuse) ซึ่งจะช่วยให้มีการใช้ทรัพยากรใหม่น้อยที่สุด และเกิดประโยชน์สูงสุดลดปริมาณขยะจากการนำกลับเข้ามาสู่วงจรการผลิตได้ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยังมีคุณภาพและมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน จึงถือเป็นการสร้างคุณค่าที่ดีขึ้นและสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม รวมถึงธุรกิจอีกด้วย
“การจะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เอสซีจี ในฐานะภาคธุรกิจจึงขอเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชนได้อย่างแท้จริง”
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ยกกรณีศึกษาต่อเนื่อง เอสซีจีได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ โดยมีการขับเคลื่อนผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่
1.Reduced Material Use หรือ Durability คือ การลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต เช่น กระดาษลูกฟูก Green Carton ที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ สามารถใช้วัตถุดิบลดลงร้อยละ 25 แต่คงความแข็งแรงเท่าเดิม ทั้งยังทำให้ลูกค้าประหยัดต้นทุนในการขนส่งมากขึ้น และการลดการผลิตและการขาย Single-Use Plastic ของเอสซีจี จาก 46% เหลือ 23% ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งช่วยให้ลูกค้าลดการใช้พลังงาน เช่น Active AIRflow™ System ระบบระบายอากาศที่ทำให้บ้านเย็นสบาย ไม่ร้อนอบอ้าว ประหยัดค่าไฟจากการใช้เครื่องปรับอากาศ และ การเพิ่มความแข็งแรงทนทานของสินค้า เช่น ปูนโครงสร้างทนน้ำทะเลที่มีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้น 2 เท่า
2.Upgrade และ Replace คือ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิม ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงหรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น เช่น เม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนจากเทคโนโลยีใหม่ของเอสซีจี ที่สามารถนำพลาสติกรีไซเคิลมาผสมได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และ ปูนโครงสร้างเอสซีจีสูตร Hybrid ที่ใช้ทดแทนปูนโครงสร้างสูตรเดิม ทำให้ใช้วัตถุดิบหินปูนที่ต้องเผาน้อยลง
3.Reuse และ Recycle คือ การเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น โรงอัดกระดาษเพื่อรวบรวมเศษกระดาษกลับมารีไซเคิล การนำขวดแก้วใช้แล้วมาทดแทนทรายธรรมชาติในการผลิตฉนวนกันความร้อน การพัฒนาสินค้า CIERRA™ ซึ่งเป็น Functional Material ที่ช่วยปรับคุณสมบัติพลาสติกให้สามารถใช้พลาสติกเพียงชนิดเดียว แต่ให้คุณสมบัติที่หลากหลายกับบรรจุภัณฑ์แทนการใช้วัสดุหลายชนิด ซึ่งยากต่อการนำไปรีไซเคิล ทำให้การรีไซเคิลทำได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น และ การนำขยะพลาสติกในทะเลและชุมชนมาเป็นส่วนประกอบสำหรับทำบ้านปลาเพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล
ในการสัมมนาทางวิชาการ SD Symposium 2018 มีมุมมองน่าสนใจ ที่ทุกภาคส่วนจะร่วมกันขับเคลื่อน และเปลี่ยนองค์ความรู้ Circular Economy 4 มุมมองคือ
1.Global Sharing กระแสความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจหมุนเวียนในแวดวงอุตสาหกรรมระดับโลกและบทบาทของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจหมุนเวียน
จากงานวิจัยระบุว่า 97% เศรษฐกิจหมุนเวียนมีความสำคัญมากขึ้นกว่า 3 ปีที่ผ่านมา และ 93% บอกว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเติบโตและความสำเร็จในอนาคต สิ่งที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ลูกค้า กฎระเบียบ กฎหมาย และความเห็นประชาชน ส่วยปัจจัยภายใน คือ ผู้บริหาร การพัฒนาอย่างยั่งยืน และกลยุทธ์ขององค์กร
การขับเคลื่อนให้เกิดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ขั้นแรก องค์กรต้องมองเห็นความสำคัญเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขั้นสองผู้บริหารต้องมองเห็นความสำคัญ ขั้นสามต้องมีการกำหนดทิศทางการนำไปปรับใช้ในองค์กร และขั้นสี่แต่ละหน่วยงานต้องมีความเข้าใจและรับไปปฏิบัติ โดยการดำเนินการส่วนใหญ่จะเริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วนำมาขยายผล จากนั้นเมื่อสำเร็จ กระบวนการทำงานจะขึ้นสู่ระดับสูงขึ้น เพื่อให้องค์กรนำไปต่อยอดธุรกิจและเป็นกระบวนการที่จะนำไปใช้ใน Business Unit แล้วบูรณาการเข้าไปในยุทธศาสตร์ขององค์กร
“คาดการณ์ว่าภายในปี 2573 เศรษฐกิจหมุนเวียนในเนเธอร์แลนด์จ ะสร้างตลาดที่มีมูลค่ามากกว่า 7.3 พันล้านดอลล่าร์ และสร้างงานกว่า 54,000 ตำแหน่ง คนจะเริ่มตั้งราคาสินค้าเป็น True Price คือ สินค้าและบริการต้องคิดราคาต้นทุนที่แท้จริง และต้องคิด Natural Capital Accounting คือ ต้นทุนของการใช้อากาศ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ Circular Economy สามารถระบุต้นทุนแฝงเหล่านี้ได้”
H.E. Mr. Kees Rade, Ambassador of the Kingdom of the Netherlands หนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ทำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ย้ำว่าทุกคนต้องมาร่วมพูดคุยและหาวิธีการว่าตัวเองจะเข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างไรและจะต้องทำอะไรบ้าง
2.Circular Community การนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มคุณค่าแก่ผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชน โดยเรียนรู้จากความสำเร็จของโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OVOP) ประเทศญี่ปุ่นที่โด่งดังทั่วโลกทางด้านสินค้าท้องถิ่น รวมถึงการท่องเที่ยว มีหลักคิดการพึ่งพาตัวเอง ใครก็ทำได้ ทำเมื่อไหร่ก็ได้ ทำที่ไหนก็ได้ อย่างมีความสุข ไม่ได้คิดถึงตัวเลข GDP ที่สูง
Mr.Tadashi Uchida President of International OVOP Exchange Committee ขยายความต่อเนื่องถึงเป้าหมายของ OVOP โดยในประเทศไทยนับว่าโชคดีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงให้แนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” ไว้ ซึ่งทาง OVOP ต้องการแนวทางนี้มากกว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง เพราะฉะนั้นการที่ชุมชนจะทำได้ก็ต่อเมื่อ “มีความพอใจ และมีความพอเพียง”
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้ทรงกำหนดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับ Circular Economy โดยชุมชนทำในสิ่งที่ทำอย่างมีความสุข ไม่จำเป็นต้องออกไปอยู่ในเมืองใหญ่”
พร้อมกันนี้มีการนำเสนอกรณีศึกษาจริง ของชุมชนที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย อาทิ ไม้หมอนฟาร์ม จ.เชียงราย สวนป้าชื่น จ.ระยอง และ Paper Band ถักทอสายใยสานใจชุมชน ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
3.Digital for Circular Economy แนวทางที่ผู้ประกอบการ SMEs และสตาร์ทอัพจะนำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับการขยายตัวและความสำเร็จทางธุรกิจ สำหรับสตาร์ทอัพที่จะเข้ามามีส่วนช่วยให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนได้ อาจไม่ใช่สตาร์ทอัพที่เพิ่งก่อตั้งมาในระยะเวลาไม่นาน แต่มักจะเป็นสตาร์ทอัพตั้งแต่ระดับ SeriesA ขึ้นไปเช่นที่ทาง AddVentures by SCG ได้ให้ความสนใจในการลงทุน
ปัจจุบัน ในระดับโลกมีสตาร์ทอัพหลายรายที่เข้ามาสร้างโมเดลธุรกิจตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจ
แบบหมุนเวียน เช่น Claim Di ที่ใช้ดิจิทัลเข้ามาปรับปรุงกระบวนการของธุรกิจประกัน Skootar ที่เป็น Sharing Platform สำหรับพนักงานส่งเอกสาร
นอกจากนี้ หุ่นยนต์ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นในกระบวนการต่างๆ เช่น การผลิต ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงทำให้เกิดการ Reuse ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การใช้ machine learning ทำให้ไม่ต้องมีกระบวนการใช้บางอย่างซ้ำ
4.Circular Waste Value Chain นับเป็นการพูดคุย และรับฟังข้อเสนอจากทุกภาคส่วนที่ใกล้ชิดมากกับชุมชนในท้องถิ่น โดยปี 2560 องค์กรส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งเป้า ลดขยะทั่วประเทศลง 5%ตั้งชุมชนต้นแบบให้มีระบบการจัดการขยะมูลฝอยครอบคลุม 40% มีการจัดการขยะอันตรายในชุมชน ครอบคลุม100% และจัดการขยะอุตสาหกรรม ลดลง 100% ปัจจุบัน มีการจัดกลุ่มเพื่อการจัดการขยะ จำนวน 324 กลุ่มโดยมีกลุ่มที่มีศักยภาพในการนำขยะไปทำพลังงานได้ประมาณ 60 กว่ากลุ่ม (RDF หรือพลังงานป้อนโรงไฟฟ้า) นอกจากนั้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการจัดการขยะพลาสติก เพื่อเป็นกลไกผลักดันและขับเคลื่อนการปฏิบัติการระดับประเทศ
การดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เน้นการจัดการขยะ เช่น แก้ปัญหาการเทกอง ด้วยการฝังกลบ โดยข้อมูลขยะของ กทม. ปี 2560 เพิ่มขึ้น 3.9% จากปี 2558 ซึ่งคาดว่า ขยะในช่วง 10 หลังจากนี้ จะสามารถควบคุมให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1% ของปริมาณขยะในปัจจุบัน ซึ่งขยะประเภทเศษอาหารมีมากที่สุดถึง 47.62 กทม. ส่งเสริมการแยกขยะ ใน 14 กลุ่มเป้าหมายแบ่งเป็นพื้นที่ 37,189 แห่ง ดำเนินการแล้ว 12,000 แห่ง คิดเป็น 32% แต่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารเรื่องเหล่านี้ถึงชุมชน อย่างไรก็ตามกทม. มีความตั้งใจให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อสร้าง Model ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการขยะที่มีความต่อเนื่องในระดับชาติ
ส่วนธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เห็นว่า ในขณะที่สินค้าพลาสติกยังมีความจำเป็นในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป บริษัทฯ ได้มีความพยายามค้นหาเทคโนโลยีในการนำ Single-Use Plastic กลับมาใช้หรือรีไซเคิลได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด อีกทั้ง ได้พัฒนาสินค้าพลาสติกประเภทที่มีความแข็งแรง คงทน มีความเบาและเหนียว เพื่อทดแทนวัสดุธรรมชาติ
ทั้งนี้ แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเดินหน้าอย่างได้ผลนั้น ยังต้องเร่งสื่อสารเปลี่ยนวิธีคิดของประชาชน และการใช้สิ่งของที่จะใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ให้มีการคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้มากขึ้น เวทีเสวนายังมีความต้องการให้เกิดความร่วมมือในทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการเชื่อมโยงหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ เพื่อให้เกิดห่วงโซ่ การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องอาศัยบทบาทของทุกคน (Polder Model) คือ ต้องร่วมมือกันทำ แต่ต้องทำในทุกระดับ จริงจัง และต้องตรวจตราในสิ่งที่ทำด้วยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด
Mr. Peter Bakker, President and CEO of World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) บอกว่าในงานเดียวกันว่า 20 ปีก่อน เราพูดถึงการอุทิศเพื่อสังคม 10 ปีถัดมา เราพูดถึง CSR คือแค่รับผิดชอบต่อสังคม แต่วันนี้เรามาพูดถึงการสร้างความยั่งยืนด้วยแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยนำมาบรรจุเข้าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ขององค์กร ถ้าเราผนวกเข้าเป็นเรื่องเดียวกัน และกำหนดทิศทางนี้ไม่ได้ เราก็เป็นผู้นำไม่ได้ และอนาคต เรื่องของความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน ควรต้องถูกบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐด้วย เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ