ปีนี้ยังต้องพูดถึงเรื่องขยะพลาสติก โดยเฉพาะความร่วมมือของทุกฝ่ายในการทำ Reduce, Reuse, Recycle มุ่งสู่ Circular Economy ภาคการศึกษาเปิดหลักสูตรออนไลน์ FOOD WATER ENERGY NEXUS เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรน้ำ พลังงาน และเกษตรอาหาร ต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม
ความจริงของประเทศไทย ประเทศที่ไม่ใหญ่นัก แต่สามารถติดอันดับ 6 ใน 192 ประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุดในโลก ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่าประเทศไทย มี 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล ซึ่งมีปริมาณขยะประมาณ 11.47 ล้านตัน โดยที่ขยะปริมาณกว่าร้อยละ 14 (หรือประมาณ1.55 ล้านตัน) มีขยะพลาสติกอยู่ประมาณ 340,000 ตัน ร้อยละ 10-15 มีโอกาสปนเปื้อนลงสู่ทะเลได้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลโดยรวมและสัตว์ทะเล(กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง http://www.dmcr.go.th/detailAll/13479/nws/87/)
กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาชิกองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) หน่วยงานภาคเอกชน และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหา จึงได้ร่วมมือกันริเริ่ม “โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน” ซึ่งภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนได้แสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการขับเคลื่อนโครงการไปด้วยกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี เพื่อจัดการปัญหาขยะและส่งเสริมการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2570 และมีพันธมิตรเข้าร่วมโครงการทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และ ภาคประชาสังคม รวมทั้งสิ้นกว่า 20 หน่วยงาน
พันธมิตรโครงการประกอบไปด้วยภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม
ภาครัฐ: กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และสถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม
ภาคธุรกิจ: สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย
ภาคประชาสังคมและองค์การระหว่างประเทศ: มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สมาคมสร้างสรรค์ไทย และองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)
“โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน” มีวัตถุประสงค์เพื่อทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้บรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2570 และส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สำหรับพลาสติก ผ่านการส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานธุรกิจรีไซเคิล การส่งเสริมผู้ประกอบการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน ครอบคลุมไปถึงการใช้หลักการ 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) และการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคและประชาชนในการคัดแยกขยะและจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางที่ถูกวิธี เพื่อสร้างวัฒนธรรมและเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค การสร้างโมเดลเมืองสะอาดในพื้นที่นำร่องกรุงเทพมหานคร เขตคลองเตย และ จังหวัดระยอง และการจัดทำฐานข้อมูลพลาสติกในประเทศไทย (Thailand Plastic Material Flow Database) ให้เป็นเครื่องชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของโครงการและเป็นข้อมูลพลาสติกของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
ในเวลาเดียวกัน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดคุยเรื่องสิ่งแวดล้อม
พร้อมเปิดสอนออนไลน์ รายวิชา ‘เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องของเรา’ ซึ่งหลักสูตรแรก ได้แก่ ‘FOOD WATER ENERGY NEXUS’ ที่ทำขึ้นเนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) 5 มิถุนายน 2561 นี้ โดยเนื้อหาของหลักสูตรดังกล่าวจะมุ่งสร้างความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรน้ำ พลังงาน และเกษตรอาหาร ต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในสามปัจจัยหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) เป็นฐานความคิดพื้นฐานของทุกภาคส่วนในสังคมโลกปัจจุบัน โดยจะยังผลให้เกิดความเติบโตที่สมดุลและมีความยั่งยืน ทั้งนี้ การจัดทำและเผยแพร่องค์ความรู้และสื่อการสอนที่มีความถูกต้องตามหลักวิชาการ เข้าถึงได้สำหรับกลุ่มผู้สนใจในวงกว้าง รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคในสังคมต่อการดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับปัจจุบันและอนาคต
หลักสูตรนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ นักเรียน นิสิตนักศึกษา เจ้าของกิจการ ผู้บริหาร ผู้จัดการ หัวหน้างานทุกคน หรือผู้ที่สนใจ ได้ทราบถึงแนวคิด เทคโนโลยี และแนวทางการมีส่วนร่วมเพื่อการดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสามารถนำความรู้และเครื่องมือและวิธีการต่างๆ จากการฝึกอบรมไปประยุกต์ใช้ในบริบทและรูปแบบต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กร สังคม ประเทศชาติ รวมไปถึงสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมโลกต่อไป และหลักสูตรที่ 2 ของรายวิชา ENVIRONMENT 4.0 โดยจะเปิดรับสมัครภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ ผ่านหัวข้อสิ่งแวดล้อมและความเป็นเมือง เครื่องมือบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการพลิกโฉมด้านสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นับเป็นความพยายามของทุกฝ่าย ที่ยังต้องเร่งเครื่องเดินหน้ารักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ลูกหลานของตัวเองได้มีโอกาสสัมผัส แล้วพวกเราที่เป็นผู้ใหญ่ล่ะ?