ปิติ ตัณฑเกษม “Licence to Operate จากสังคมสำคัญมาก ถ้าไม่มีก็ทำธุรกิจไม่ได้ แม้จะมี Licence จากแบงก์ชาติก็ตาม”

ความเชื่อของทีเอ็มบี องค์กรจะยั่งยืนต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง จึงเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่ออก “พันธบัตรสีเขียว” (Green Bond) อายุ 7 ปี มูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,850 ล้านบาท

โดยไอเอฟซี ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มธนาคารโลก เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด เพื่อนำเงินไปสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate-Smart Project) และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี อยู่ในวงสนทนา “พันธบัตรสีเขียว” ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงนโยบายของธนาคารในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน

– Licence to Operate จากสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทีเอ็มบีมีการกำหนดเชิงนโยบายอย่างไร
ปิติ : ทีเอ็มบี ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน และได้กำหนดกรอบการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนไว้แล้ว โดยครอบคลุม 4 แกนหลัก ได้แก่ แกนด้านองค์กร (Organization) ด้านภาคธุรกิจการธนาคาร (Industry) ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) และด้านสังคม (Social)

– ช่วยขยายแนวทางทั้ง 4 แกนหลัก
ปิติ : เรื่องแรกเราเป็นองค์กรที่ทำสิ่งที่ถูกต้องกับลูกค้า ให้ลูกค้าเราเชื่อว่า สินค้าและบริการของธนาคาร ต้องจริงใจโปร่งใสในการนำเสนอ นั่นเป็นสิ่งที่เราทำโปรดักต์ All Free กองทุนรวม Architecture เรามีโฆษณาเรื่องสินค้า เราไม่มีดอกจันทร์ เพราะเราไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ที่ลูกค้าซื้อสินค้า เพราะชอบหรืองง หลายครั้งธนาคารทำให้]ลูกค้างง เลยซื้อ เราไม่อยากทำแบบนั้น เราอยากให้สินค้าเราเข้าใจง่าย และลูกค้ารู้ว่าคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร แต่ถ้าเขาซื้อไปด้วยความงงๆ มาถึงจุดหนึ่งเมื่อเขารู้ว่า ธนาคารไม่ได้ทำสิ่งที่ถุกต้องให้กับเขา เขาจะเลิกไป นั่นคือเขาจะไม่ให้ Licence to Operate ก็จะเลิกไป ไปใช้ Non Bank,Fin Tech ดีกว่า เพราะไม่มีความรู้สึกเชื่อมั่นกับธนาคาร

– ทีเอ็มบีกับอุตสาหกรรมที่จะต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องอย่างไร
ปิติ : เมืองไทยเรายังมีปัญหาเรื่องนี้เยอะ เราจะพบว่าทำไมเรายังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนมาก ทำไมเราพบว่าหนี้กองทุนเพื่อการศึกษาสูงมาก ปัญหาอีกมากทางการเงิน คนไม่มีความรู้เรื่องการลงทุน ปัญหานี้เป็นของใคร นายกฯ รัฐบาล หรือไม่ ผมว่าน่าจะเป็นปัญหาของอุตสาหกรรมของเรา นั่นแสดงว่าเราได้ทำหน้าที่เหล่านี้ดีพอหรือยัง นั่นเป็นเหตุผลที่เราร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ทำเรื่อง Financial Literancy เราทำโปรดักส์ให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนต่ำ เพื่อไปพัฒนาประสิทธิภาพของเขา เราทำแอพฯ ให้ใช้ง่ายเพื่อให้เข้าถึงดิจิตอล แบงก์กิ้งได้ ง่ายซะจนผู้พิการทางสายตาให้รางวัลเราในฐานะที่เป็นผู้พัฒนาแอพที่ใช้ง่ายที่สุดในประเทศไทย

เรื่องเหล่านี้สำคัญมาก ทำอย่างไรให้คนสามารถเข้าถึงการเงินในธนาคารได้มากขึ้น ทำอย่างไรให้คนเข้าใจเรื่องการออม การใช้ การกู้ได้มากขึ้น ถือเป็นหน้าที่ของอุตสาหกรรมธนาคาร

 

– ต่อไปเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ธุรกิจธนาคารเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร
ปิติ : ตัวเราเองก็ใช้สิ่งต่างๆ มากมายเพื่อให้เราประกอบธุรกิจได้ แต่เราใช้น้อยลงได้ไหม เราเปลี่ยนเป็นหลอดแอลอีดีได้ไหม ประหยัดไฟ ประหยัดน้ำ เรารีไซเคิล แก้ววันนี้ที่ใส่น้ำเป็นพลาสติกแบบ Biodegrabable รวมหลอด ซึ่งย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องรับผิดชอบ และไม่จบแค่นั้น ทำอย่างไรเราจะส่งสริมธุรกิจเอสเอ็มอีช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

– ในเรื่องสังคม
ปิติ : เราต้องรับผิดชอบต่อสังคม เราโฟกัสเรื่องเด็กและชุมชน เพราะเราคิดว่าเด็กมีข้อจำกัดในการช่วยตัวเองได้ จึงเป็นกลุ่มแรกที่เราจะทำอะไรให้กับเด็กได้เมื่อเราพร้อม ก็เป็นโครงการไฟ ฟ้า ช่วยเด็กๆ ให้ได้เรียนในสิ่งที่เขาอยากเรียนเหมือนกับเด็กๆ ทั่วไปได้ ซึ่งจริงๆ เด็กกลุ่มนี้โดยธรรมชาติก็ลำบากอยู่แล้วในการใช้ชีวิต ทอย่างไรเขาสามารถใช้ชีวิตเป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่งได้ ส่วน Park Run เราก็หาทุนแต่ละปีไปช่วยเด็กที่มีปัญหาหัวใจ เพื่อให้เขาใช้ชีวิตเยี่ยงเด็กปกติคนหนึ่ง

– ขอกลับมาที่เรื่อง Green Bond ของทีเอ็มบี
ปิติ: สิ่งนี้ถือเป็นก้าวแรกของประเทศไทยที่ออกเรื่องพันธบัตรสีเขียวร่วมกับ IFC เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Green Bond ส่วนหนึ่งการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศหลีกเลี่ยงไม่ได้ รุ่นเราต้องคิดถึงรุ่นลูกหลานในอนาคต และการทำธุรกิจที่มีผลกระทบสร้างมลพิษให้กับโลกสำคัญมากต้องหลีกเลี่ยง ซึ่งการทำโครงการแบบนี้ ไม่ใช่ CSR แต่เป็นการพัฒนาสังคมที่แท้จริง

– ทราบว่า ความร่วมมือของทีเอ็มบีกับ IFC เคยทำมาแล้วระยะหนึ่ง
ปิติ : เราร่วมกันทำงานมาแล้ว ทำให้เราสามารถมีต้นทุนทางการเงินที่สามารถแข่งขันได้ เพื่อปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจด้านนี้ เช่น สิ่งที่เราทำไปเรื่องพลังงานทางเลือก เราทำ 12 โครงการโซล่าร์เซล กรีนเฮาส์แก๊สได้ 8 หมื่นตัน เท่ากับการปลูกป่า 9 พันไร่ โครงการไบโอแมสที่ปล่อยให้ลูกค้า ตอนนี้ปล่อยไปประมาณ 8,500 ล้านบาท

การอนุรักษ์ เราปล่อยกู้ให้กับบริษัทรีไซเคิล เพื่อผลิตพลังงาน ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ เราให้ฟันด์ดิ้งกลุ่มทำเสื้อผ้า YEH Group ย้อมผ้าโดยไม่ใช้น้ำซึ่งเราทำมาหลายปีแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราอาจจะยังไม่ได้นึกถึง YEH Group ทำงาน R&D กับแบรนด์กีฬาระดับโลกในยุโรป เพื่อหาทางย้อมผ้าโดยไม่ใช้น้ำ

ลูกค้าเล่าให้ผมฟังว่า รู้ไหมว่า แต่ละปีอุตสาหกรรมผ้า ใช้น้ำเท่ากับขนาดของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน 1 ทะเล !! ถ้าน้ำเหล่านี้ไม่ถูกบำบัดให้สะอาด แต่ถูกปล่อยลงไป นั่นเท่ากับทะเล 1 ทะเล ถ้าเราย้อมผ้าโดยไม่ใช้น้ำได้เลย จะดีกว่าไหม เราก็ปล่อยฟันดิ้งไปโปรเจคนี้ และใช้ผ้าของเขาในพาร์ครัน หลายๆ ปีที่ผ่านมา และลูกค้าเรารายนี้ ก็เป็นคนได้ซัพพลายผ้าให้กับงานมาราธอนใหญ่ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นโยโกฮาม่ามาราธอน

พวกเราที่ชอบวิ่ง และบางทีได้เสื้อมาใช้ในการวิ่งแต่ละครั้ง เรานึกว่าเราวิ่งเพื่อสุขภาพ แต่เราวิ่งเสร็จ เราไม่รู้ว่าเราได้ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยเสื้อผ้าที่ผลิตมาแล้วใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งๆๆ

กิจกรรมใหญ่ๆ ที่ใช้ผ้าจากการไม่ได้ใช้น้ำย้อม สามารถเซฟน้ำเป็นแสนๆ ลิตร ปัจจุบัน อาดิดาส ไนกี้ เอาผ้าจากลูกค้าเราไปเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าเขา เป็นผ้าที่มี Environmental Concern

-ล่าสุด เงื่อนไขที่ IFC ร่วมมือกับทีเอ็มบีมีอะไรบ้าง
ปิติ : ทีเอ็มบีเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่ออก “พันธบัตรสีเขียว” อายุ 7 ปี มูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,850 ล้านบาท โดย IFC ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มธนาคารโลก เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด เพื่อนำเงินไปสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate-Smart Project และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

– ช่วยขยายข้อมูล โครงการที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ แบบใดที่จะได้รับการสนับสนุนการเงิน Green Bond ของทีเอ็มบี
ปิติ : โครงการที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ ที่จะได้รับการสนับสนุนตามวัตถุประสงค์ของกรีนบอนด์ที่ออกในครั้งนี้ ได้แก่ โครงการพลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับแผนการขยายสินเชื่อสีเขียวของทีเอ็มบี นอกจากนี้ การบุกเบิกตลาด Green Bond ยังก่อให้เกิดทางเลือกใหม่ของแหล่งเงินทุนสีเขียวระยะยาวในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี 2573 และยังช่วยลดปัญหาการขาดเงินทุนเพื่อสนับสนุนด้านภูมิอากาศ หรือ Climate-ChangeFfinance ของประเทศไทยซึ่งมีการประเมินไว้ที่กว่า 31,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จนถึงปี 2573 อีกด้วย

-ความเสี่ยงของธุรกิจกรีน ที่ธนาคารเห็นว่ามีความสำคัญมากคือะไร
ปิติ : เทคโนโลยีใหม่มากๆ จะมีความเสี่ยง แบงก์จะต้องดูสมดุลให้ดี ซึ่งอาจจะไม่มีตลาดเลยในช่วงแรก ถ้าแบงก์ไม่ให้ฟันดิ้งกับเอสเอ็มีที่ทำธุรกิจแบบนี้เลย พวกเขาก็จะไม่เกิด แต่ทุกคนอยากช่วยรักษาโลกด้วยการใช้พลังงานทางเลือก ด้วยการใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ไม่มีทางมาเจอกันได้

ขณะเดียวกัน มีคนอยากลงทุนกับ Green Bond แต่ไม่มีใครอยากลงทุนกับ Green Project ก็ไม่มีทางเกิด

– ธุรกิจแบบนี้ไม่มีใครบังคับ แต่ทีเอ็มบีก็ทำ
ปิติ : เรื่องนี้ไม่มีใครบังคับ รัฐก็ไม่ได้บังคับ แต่ขึ้นอยู่กับตัวเองที่จะต้องทำ

นับเป็น Green Bond ชุดที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่ไอเอฟซีลงทุน และจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเร่งพัฒนาตลาด Green Bondที่ เพิ่งเริ่มตั้งตัวในประเทศไทย โดยหวังว่า ผู้ระดมทุนรายอื่นๆจะให้ความสนใจ และหันมาออก Green Bond เพื่อสนับสนุนโครงการที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ

Green Bond จะส่งผลดีต่อเป้าหมายของรัฐบาลไทยในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เอื้อต่อการเติบโตของโครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกันเอสเอ็มอีบอนด์ ซึ่งทีเอ็มบีจะออกในเวลาต่อไป จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนซึ่งเป็นข้อจำกัดที่สำคัญ รวมทั้งช่วยในการพัฒนาโซลูชั่นส์ทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีกด้วย

 

Stay Connected
Latest News

สิงห์ เอสเตท สานต่อโครงการ “ปลูกป่าด้วยปลายนิ้ว” ปีที่ 3 เดินหน้าปลูกป่า 1 ล้าน ตร.ม. สร้างพื้นที่สีเขียว มุ่งสู่องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนครบวงจร ตามปรัชญา “Go Beyond Dreams”