สิงห์ เอสเตท ย้ำนโยบายสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกๆ แห่งที่ลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ดำเนินธุรกิจคู่กับการสร้างสมดุลการอยู่ร่วมกันของชุมชนและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มก.ดันเกาะพีพีสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางทะเลสำคัญระดับโลก
นริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S พูดคุยระหว่างอาหารเช้าที่ Phi Phi Island Village Beach Resort จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจของ สิงห์ เอสเตท
-สิงห์ เอสเตท ให้ความสำคัญกับเรื่อง Sustainable Development อย่างไรบ้าง
นริศ : สิงห์ เอสเตท มีปรัชญาในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างคุณประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกกลุ่ม โดยเราได้เน้นความสำคัญเรื่องการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) ที่ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก คือ การลดผลกระทบและการสร้างคุณค่า ด้วยนโยบายการสร้างคุณค่าและรักษาสมดุล
-ช่วยเล่าถึงงานที่ทำในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง Phi Phi Island Village Beach Resort
นริศ : ปี 2559 เราเริ่มที่โครงการ “พีพี กำลังจะเปลี่ยนไป” แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน ตามกรอบแนวคิด พีพีโมเดล ของผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เช่น เรามอบทุ่นจอดเรือที่ทะเลแหวก สนับสนุนเรือตรวจการณ์เพื่อให้เจ้าหน้าที่อุทยาน พัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในบริเวณโรงแรม หนุนวิจัย สาหร่ายจิ๋ว หรือ Zooxanthellae ฟื้นฟูปะการังฟอกขาว ซึ่งเป็นการวิจัยครั้งแรกของโลก
ในปีต่อมา ยังเดินตามปีแรกด้วยโครงการ “โตไวไว”ปลูกต้นพีพีหรือต้นแสมขาว ปลูกปะการัง ด้วยวิธี Coral propagation ปล่อยปลาการ์ตูนสีส้มขาว เป็นการดำเนินในแนวทาง ‘Cloud to Coral’ การมุ่งเน้นที่จะลดคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการปลูกป่า โดยใช้ต้นไม้ท้องถิ่นนั้นๆ การลดขยะและเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน
ในปี 2561 นอกจากติดตามงานที่เราริเริ่มไว้ และเปิดตัวศูนย์เรียนรู้ทางทะเล หรือ Marine Discovery Centre : MDC แหล่งเรียนรู้สำหรับให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตทางทะเลแก่บุคคลทั่วไป สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และการทำโครงการฟื้นฟูปะการังอ่าวมาหยา สิ่งเหล่านี้เราเชื่อมั่น แม้เราจะเป็นคนที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรมแห่งนี้ เราเชื่อว่าผลกระทบเกิดขึ้นปิดอ่าวมาหยา อาจจะมีผลกระทบบ้างกับธุรกิจ กับท้องถิ่น แต่ผมมั่นใจว่าเป็นระยะเวลาสั้นๆ ในอนาคต ระยะยาวสิ่งเหล่านี้จะกลับมา ความงดงามของธรรมชาติจะกลับมา มรดกเหล่านี้มีไว้สำหรับลูกหลานของเรา มีการทำงานมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมมากขึ้น ดังนั้นผมมั่นใจ สิ่งที่เราทำตอนนี้จะมีผลดีในระยะยาวให้ชื่นชม
-เราลงทุนกับ MDC มาก คือใช้พื้นที่หน้าชายหาด ในมุมธุรกิจถ้าสร้างเป็นห้องพักก็น่าจะสร้างรายได้บริษัทดีกว่า
นริศ : เป็นความตั้งใจของของสิงห์ เอสเตทที่เน้นย้ำอยู่เสมอคือ การให้องค์ความรู้ MDC สร้างความตระหนักรู้ และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติโดยศูนย์การเรียนรู้ทางทะเลแห่งนี้ จะเป็นต้นแบบของการเรียนรู้ และการขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆ ทั้งในประเทศไทย และทะเลทั่วโลกที่ สิงห์ เอสเตท จำกัด เข้าไปพัฒนาธุรกิจ เป็นศูนย์เพื่อการเรียนรู้ทางทะเล ในอนาคตที่จะช่วยผลักดันและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs -Sustainable Development Goals ในข้อ 14 คือ การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลอย่างรู้คุณค่า ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติที่มีทั้งสิ้น 17 ข้อ
-นโยบาย SD ของสิงห์ เอสเตท ที่คุณนริศวางไว้ สอดคล้องกับบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ด้านใดบ้าง
นริศ : เป็นนโยบายที่สอดคล้องกัน เราต้องการทำธุรกิจแบบที่เราอยู่ร่วมสังคมอย่างกลมกลืน ทำงานร่วมไปกับชุมชน และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สิงห์ เอสเตทเป็นบริษัทเล็กเราเพิ่งตั้ง 4 ปี เราเริ่มคิดและลงมือทำทันทีตั้งแต่วันแรกว่า เราจะทำธุรกิจโดยดูแลสังคมสิ่งแวดล้อมพร้อมๆ กัน เราจะไม่เอาเปรียบสิ่งแวดล้อม เราจะไม่เอาเปรียบชุมชนที่เราไปทำธุรกิจอยู่
-ในมุมผู้นำองค์กร เรื่องแบบนี้ต้องลงทุน
นริศ : ใช่ SD ต้องลงทุน แต่เป็น Payback จับต้องได้ ผมเชื่อว่า ถ้าเราทำทุกอย่างดี ผู้บริโภคให้ราคา อย่างเราทำสิงห์ เอสเตท คอนโดฯดี ใช้ของดีสร้าง ใช้ผู้รับเหมาดี พวกนี้จะสร้างของดี ต้นทุนแพงกว่า ซึ่งระยะยาวเรามั่นใจว่าคอนโดฯ เราใช้ของคุณภาพ ราคาจะเพิ่มมากกว่า หรือไปโรงแรมนี้ ราคาแพงกว่านิด แต่ไม่เอาเปรียบสิ่งแวดล้อม เราจะทำเรื่องนี้ให้เติบใหญ่มากขึ้น ครอบคลุมเรื่องต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเรามีโอกาสสร้างโรงแรมเอง จะเป็น Ideal ให้เราได้ทำต่อเนื่อง
-การลงทุนกับ SD บอร์ดของสิงห์ เอสเตทมองเรื่องนี้อย่างไร
นริศ :ท่านปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานบอร์ด เคยถามว่า การที่เราทำแบบนี้ มันมีต้นทุนนะ อย่างเป็น LEED นี่ก็ต้นทุน หรือมาทำกับธุรกิจโรงแรมก็มีต้นทุน เกิดขึ้น แต่ผมเรียนท่านว่าระยะสั้นอาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่ในระยะยาวเราจะได้รับการยอมรับ และเราจะมีแฟนของเรา ไม่ว่าเราจะทำอะไร หากเขามีโอกาสเป็นลูกค้าได้ หรือมีทางเลือกเขาก็น่าจะเลือกเรา ส่งไปที่ Brand Loyalty ซึ่งปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าเรา จะเริ่มลอนช์สิงห์ เอสเตท เป็น Corporate Brand โดยเรื่อง SD ที่เราทำ จะเดินอยู่ในนี้เลย เป็นจุดที่เรามุ่งเน้น
หรืออีกเรื่องที่บอร์ดเป็นห่วงเรื่องถมทะเลที่มัลดีฟ ผมเลยบอกว่าเราไม่ถมคนอื่นก็ถมเพราะรัฐบาลเขาจะทำอยู่แล้ว การที่เราถมดูแลอย่างดี ให้นโยบายผู้รับเหมาว่าต้องทำตาม EIA ของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลน้ำ ดูแลฝุ่นการก่อสร้าง เรื่องนี้ส่วนหนึ่งเป็นพรีแฟบจากเมืองไทย ยกใส่ไป 3 คอนเทนเนอร์ใหญ่ๆ ก็ตัดปัญหาเรื่องฝุ่นไป เราก็นำไปวาง แทนทีจะเทปูนซึ่งต้องมีน้ำ ปูน ฝุ่น นอกจากนี้ การดูแลคนงานในไซต์งานเป็น SD ของเรา เป็นนโยบายลงไป ที่อาจจะต้องปรับ ในต่างประเทศเราก็กำหนด Code of Conductsชัดเจน ในคู่มือการก่อสร้าง
-ถ้าให้เปรียบเทียบต้นทุนบริษัทที่เลือกทำ SD กับบริษัทที่ไม่ได้ทำเรื่องนี้
นริศ : ในธุรกิจอสังหา คนที่ทำ SD จะมีต้นทุนเพิ่ม 5-10 % ทั้ง Direct และ Indirect ดังนั้นหากเราไม่สามารถขายสินค้าให้มีราคาสูงขึ้น 5-10% ก็จะเหนื่อยเหมือนกันในแง่ Margins แต่มั่นใจว่าทำได้
-สุดท้าย ความท้าทายเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสิงห์ เอสเตท
นริศ : เรื่องของต้นทุน หากเราสามารถ Convince ของที่ซื้อ บริการที่ให้ มีคุณภาพดีกว่า เมื่อซื้อและใช้บริการแล้ว มีส่วนร่วมต่อความรับผิดในสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เมื่อทำได้จะมีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจ แต่หากทำไม่ได้จะเป็นต้นทุน แต่เราคิดว่าเราทำได้ ซึ่งผู้ซื้อระดับหนึ่งรับได้ เพราะ Value for Money ด้วยการส่งมอบคุณค่าควบคู่กับการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในทุกแห่งที่บริษัทเข้าไปพัฒนาโครงการ