3 สิ่งที่เครื่องจักรทำแทน “คน”ไม่ได้ & ​KBankต้องการ

การที่ KBank สร้าง K Capstone หวังเพาะพันธุ์คนแบงก์พันธุ์ใหม่ ต้องการคนทำงานในอนาคตจะต้องมีหนึ่ง Creativity อีกหนึ่ง ทำงานเป็นทีมเวิร์คได้ และอีกหนึ่งมีเรื่องSoft Skill รับมือกับธุรกิจธนาคารแห่งโลกอนาคตที่จะพลิกโฉมเข้าสู่มนุษย์ทำงานกับเครื่องจักรได้อย่างชาญฉลาด

แม้จะมีข่าวธนาคารแทบทุกแห่งมีการลดจำนวนพนักงานและลดสาขาลงเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดสงครามแย่งชิงพนักงานระหว่างธนาคารอย่างดุเดือดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพราะเมื่อเทคโนโลยีด้านการสื่อสารพัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิตอล มีผลต่อการทำธุรกรรมต่าง ๆ ของธนาคารเข้าสู่รูปแบบดิจิตอล หรือออนไลน์มากขึ้น ส่งผลกระทบถึงการทำธุรกรรมของธนาคารที่เดิมมีเพียง ฝาก-ถอน-สินเชื่อ ส่วนในอนาคตธนาคารจะก้าวเข้าสู่รูปแบบใดนั้น กำลังป็นปัญหาที่ทุก ๆ ธนาคารกำลังค้นหาคำตอบกัน

แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้น กสิกรไทยเริ่มสร้าง “คน” เพื่อเตรียมรับกับโลกแห่งอนาคตที่กำลังจะมาถึง ด้วยการตั้งแผนก Strategic People  Solutions ขึ้นมาเพื่อสร้างคนสายพันธุ์ใหม่มารองรับงานธนาคารในอนาคต ในโปรเจค K Capstone เป็นโปรแกรมฝึกงานแบบเข้มข้น โดยรับสมัครนักศึกษาทั่วประเทศ 500 คน แล้วคัดเหลือเพียง 55 คน

 

กสิกรไทยตั้งใจฉีกกฎเดิม ๆ ที่เคยรับพนักงานที่จบสาขาบัญชี บริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์   แต่ K Capstoneโครงการนี้ มีนักศึกษาฝึกงาน 55 คน มาจากหลากหลายสาขา อาทิ Digital Marketing , Digital Business , Data Science , Computer Science(IT), Computer Engineer ,Business Administration, Economic ,สังคมศาสตร์,อักษรศาสตร์ ฯลฯ

“ในโลกอนาคต มีหลายอย่างที่เครื่องจักรทำได้ดีกว่ามนุษย์ ดังนั้นเราต้องหันไปทำในสิ่งที่เครื่องจักรทำไม่ได้ คนทำงานแบงก์ในอนาคตจึงต้องมี Creativity สามารถทำงานเป็นทีมเวิร์คได้ เราจะดู Human Skill ซึ่งเป็น Soft Skill ที่สำคัญในอนาคต ”

พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงเป้าหมายเรื่องการสร้างคนในอนาคตขยายความว่าเมื่อก่อนธุรกรรมของแบงก์เป็นเรื่องของฝาก-ถอน สินเชื่อ บัตรเครดิต แต่ในอนาคตจะไม่มีแผนกอีกแล้ว แต่จะเป็น Center of Excellent หรือ COE

COE คือการนำข้อมูลที่ได้มาตั้งทีมงานเพื่อวิเคราะห์และนำไปใช้ ดังนั้นแบงก์จึงต้องการพนักงานที่มีประสบการณ์หลากหลายเพื่อมาแก้ปัญหาในโลกข้างหน้า เด็กรุ่นใหม่นี้เกิดมากับเทคโนโลยีและพวกเขามีความคิดที่ต่างออกไป

โปรแกรมการฝึกงานใช้เวลา 8 สัปดาห์อย่างเข้มข้น เริ่มตั้งแต่ เรียนรู้แนวทางการทำธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย , ธนาคารในอนาคตเป็นอย่างไร ,ปัญหาของธนาคารมีอะไรบ้าง จากนั้นจึงเติมทักษะด้านต่าง ๆ อาทิ Design Thinking และ Innovationต่าง ๆ โดยมีโค้ชระดับเทพในวงการ StartUp มาร่วมแชร์ความรู้กับโค้ชจากภายนอก และจากผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร

บรรยากาศการเรียนรู้ของ (ว่าที่) คนแบงก์อนาคต โดยมิ้นต์ ลิปิการ์ วิศวะแสวงสุข นศ.ปี4 ศิลปศาสตร์ อินเตอร์ มธ. เล่าถึงการตัดสินร่วมโครงการเพราะ KBank เป็นธนาคารมีชื่อเสียง มีเทคโนโลยีที่เข้าถึงวัยรุ่นได้มากกว่าธนาคารอื่น ทำให้คนรุ่นใหม่อยากมาฝึกงานด้วย”

หลังจากปูพื้นฐานทั้งหมดแล้ว จากนี้ในแต่ละสัปดาห์ นักศึกษาฝึกงานจะต้องครีเอทโปรเจคขึ้นมาโดยมีคนของธนาคารมาเป็น Commentator โดยกระบวนการที่ใช้ความรู้ที่หลากหลายระดมมาช่วยแก้ปัญหา และในสัปดาห์สุดท้ายจะได้ Prototype ที่ใกล้เคียงกับความจริงที่สุด และทางธนาคารจะคัดเลือกโปรเจคที่สามารถนำมาใช้ได้จริงมาใช้กับรูปแบบธนาคารในอนาคตต่อไป พิพิธกล่าวในตอนท้ายว่า

“ เรามีความตั้งใจทำโครงการนี้มาก เพราะนี่คือสิ่งที่คาดว่าน่าจะได้ทั้งแบรนด์ ทั้งสร้างชาติ สร้างระบบการศึกษาใหม่ ทั้งเปิดโอกาสให้คนมาทำงานกับแบงก์ และทั้งส่งสารให้กับคนในแบงก์ว่าในอนาคต เราต้องการคนแบบนี้แล้ว”  

ข่าวเกี่ยวข้อง

Stay Connected
Latest News