อีกหน้าที่หนึ่งของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า คือตั้งใจจะสอนให้เยาวชนซึมซับความสำคัญของป่า แม้นี่จะเป็นกิจกรรม CSR เล็กๆ ในปีที่ 3 ที่ชลาลักษณ์ บุนนาค นำพนักงานของ อินทัช โฮลดิ้งส์ เดินทางมาที่ป่าห้วยขาแข้ง เพื่ออาสาเป็นไม้ขีดไฟก้านเล็ก ๆ เพื่อจุดประกายให้คนไทยหันมาช่วยกันดูแลปกป้องผืนป่าสำคัญ ซึ่งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติให้สมบูรณ์และสวยงามตลอดไป
กิจกรรม “จากป่าสู่ชุมชน อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” เริ่มต้นเมื่อปี 2558 โดย บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ เอสซีจี มอบถังน้ำให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จากนั้น อินทัชฯได้เริ่มทำกิจกรรมอย่างจริงจังและต่อเนื่องโดยกำหนดระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2561 ใช้งบประมาณ 7,500,000 บาท โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญในการปกป้องผืนป่า
ชลาลักษณ์ บุนนาค ประธานคณะกรรมการความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเป้าหมายของการทำกิจกรรมนี้ว่า
“ เรื่องป่าเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ไม่ค่อยอยู่ในความสนใจของคนทั่วไป ผมรู้สึกเป็นห่วงเมื่อมีข่าวว่าอุทานยานเขาใหญ่ซึ่งเป็นมรดกโลกโดนใบเหลืองให้ปรับปรุง จึงมาคิดว่าก่อนที่จะเราจะคิดแก้ไข เราน่าจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นจะดีกว่า ทำอย่างไรให้คนไทยรู้สึกว่าเราควรอนุรักษ์ป่าไม้ ผมจึงให้ความสำคัญกับเรื่อง คนที่จะมาดูแลป่าไม้ก่อน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของโครงการนี้”
ผลสำเร็จของการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปี ส่งผลให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าฯ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีทักษะความรู้และเครื่องมือจำเป็นในการปฏิบัติงานอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จาก
@อบรมให้ความรู้เพื่อพัฒนาทักษะและความรู้ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ฯ โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ สอนให้ทำบัญชีครัวเรือนแบบง่าย ๆ ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้และมีเงินออมเฉลี่ยได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คนละ 1,920 บาทต่อเดือน
@ช่วยเหลือครอบครัว สนับสนุนทุนการศึกษาแก่บุตรของเจ้าหน้าที่ฯต่อเนื่องจนจบปริญญาตรีจำนวน 10 ทุน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าทีปฏิบัติงานได้ไม่ต้องห่วง
@สนับสนุนอุปกรณ์จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน เช่น การสร้างสถานีผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 3.2 กิโลวัตต์จำนวน 3 ชุด ติดตั้งในหน่วยพิทักษ์ป่า 3 แห่งที่ไม่มีไฟฟ้าใช้งาน ได้แก่ หน่วยพิทักษ์ป่าอีซะ หน่วยพิทักษ์ป่ากระทะแตก และหน่วยพิทักษ์ป่ายู่ยี่, สนับสนุนอุปกรณ์จำเป็นที่ใช้ในการลาดตระเวน เช่น เครื่องกรองน้ำแบบพกพา ถังเก็บน้ำ เป้สนาม เปลสนามพร้อมมุ้ง, ถ่านไฟฉายพร้อมที่ชาร์ต ,สนับสนุนข้าวสารปลอดสารเคมีจำนวน 25,500 กิโลกรัม, ช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลแก่เจ้าหน้าที่ที่ประสบภัยอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ผ่านกองทุนสวัสดิการ เป็นต้น
@ลดปริมาณขยะประเภทถ่านไฟฉาย กล่องโฟม ถุงพลาสติกจากหน่วยพิทักษ์ป่าภายในพื้นที่ได้จำนวน 7.2 ตันต่อปี
สันต์ภพ แซ่มา ผู้ช่วยหัวหน้าเขตอนุรักษ์พันธ์ุสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กล่าวถึงการทำงานพิทักษ์ป่าในปัจจุบันคือการให้ชุมชนรอบ ๆ ป่าเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าในรูปแบบ “ป่าชุมชน” ซึ่งเป็นพื้นที่บังเกอร์โซน อยู่รอบนอกของป่า
“ เราร่วมมือกับกรมป่าไม้ ชักชวนชาวบ้านแถบบังเกอร์โซน มาร่วมกันฟื้นฟูป่า ให้ชุมชนมาร่วมสร้างกฏกติกา โดยยึดวิถีชีวิตของชาวบ้านสัมพันธ์กับป่า ซึ่งชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือดีและมีความตระหนักเพิ่มขึ้น อย่างเช่นชุมชนบึงเจริญเป็นป่าชุมชนมีพื้นที่ 6,000 ไร่ กลายเป็นป่าสมบูรณ์มากสามารถพบวัวแดง ช้างป่า และ เสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ที่จะสูญพันธ์ุ ”
นอกจากนี้ สันต์ภพ ยังกล่าวถึงการขยายแนวความคิดรักษาป่าโดยร่วมกับชาวบ้านสร้าง “ ป่าครอบครัว” หรือ “ตู้เย็นหลังบ้าน” รวม 30 กว่าชุมชน ว่า
“ โครงการนี้ต่อยอดจากเครือข่ายของป่าชุมชน โดยมีเป้าหมายว่าทำอย่างไรให้ชุมชนได้ประโยชน์จากป่ามีพืชผักไว้กินในครัวเรือน จึงมีการฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่หลังบ้าน แล้วช่วยกันปลูกพืชผักที่ได้จากป่า ทั้งที่เป็นอาหาร เป็นยารักษาโรคเช่นไผ่รวก มะขามป้อม เมื่อป่าครอบครัวสมบูรณ์ก็จะมีสัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่างกบ เขียด แย้ มาอาศัยอยู่ ชาวบ้านก็สามารถจับมาทำเป็นอาหาร ที่เหลือจากการบริโภคก็นำไปขายเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน ซึ่งเราพบว่าพืชผักป่าเหล่านี้สามารถสร้างรายได้ให้ถึงปีละเป็นล้านบาท”
แม้กิจกรรม “จากป่าสู่ชุมชน อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน”จะครบตามกำหนด 3 ปีแล้วก็ตาม แต่ ชลาลักษณ์ กล่าวในท้ายที่สุดว่า ยืนยันจะเดินหน้าช่วยเหลือต่อไปเพื่อส่งต่อการทำงานสู่ภาคประชาชน ชุมชนและเยาวชน
“ เราตั้งใจทำงานอนุรักษ์ผืนป่าอย่างยั่งยืน ที่สำคัญเราต้องการให้คนไทยทั้งประเทศมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งอินทัชทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหน่วยงานอื่น ๆ มาช่วย จุดประสงค์ของเราคือจุดประกายให้คนไทยรู้สึกหวงแหนผืนป่าว่าเป็นสมบัติของแผ่นดินที่มีคุณค่าที่สุด สูญเสียไปแล้วจะเอากลับคืนมาไม่ได้ ”