โครงการเขาใหญ่ดีจัง โดยแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมพาน้องเดินป่า ตอน สะพายกล้องท่องป่า เพื่อเป็นการสนับสนุนเยาวชนนักสื่อสารที่มีความสนใจเรื่องการถ่ายภาพ จนเกิดการต่อยอดให้ใช้ภาพถ่ายของตนเอง เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อรณรงค์ไปสู่สังคมได้ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
วรพจน์ โอสถาภิรัตน์ กลุ่มดินสอสีและผู้ประสานโครงการพื้นที่นี้…ดีจัง กล่าวว่า “กิจกรรมนี้เราจัดต่อเนื่องมาปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว เริ่มต้นมาจากทางเครือข่ายโครงการ “พื้นที่นี้…ดีจัง” ประกอบไปด้วย 3 จังหวัดรอบๆเขาใหญ่ ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี และนครราชสีมา ที่จัดกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเยาวชน อยากให้เยาวชนได้รู้สึกผูกพัน รักและเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลเขาใหญ่ ให้เขาใหญ่เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเยาวชน ซึ่งอุทยานแห่งชาติทั่วไปมีเส้นทางการศึกษาธรรมชาติอยู่แล้ว แต่สำหรับเขาใหญ่เราจัดกิจกรรมเพื่อเป็นอุทยานต้นแบบ ออกแบบเส้นทางให้เป็นการสื่อสารสุขภาวะ สร้างปฏิสัมพันธ์กันภายในครอบครัว”
ณัฐวุฒิ รักษ์กุศล ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ เล่าว่าแนวคิดในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ของกลุ่มรักษ์เขาใหญ่คือการทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รู้จักการอนุรักษ์ป่า สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อมโดยผ่านเครื่องมือคือ การถ่ายภาพ
“ค่ายครั้งนี้ไม่ได้ให้เยาวชนมาเรียนถ่ายภาพอย่างเดียว เราอยากจะบอกกับเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ว่า การจะดูแลรักษาป่ามันไม่ใช่แค่เพียงการบอกให้คนหยุดตัดต้นไม้ แต่ทุกครั้งที่คุณทำอะไรที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมันสามารถสร้างเป็นงานอนุรักษ์ได้หมดเลย เช่น ปัจจุบันเครื่องมือที่คนรุ่นใหม่ใช้มากที่สุดคือการถ่ายรูปไปแล้วนำไปสื่อความหมายในสังคมออนไลน์ เราอยากให้น้อง ๆ เห็นว่ามันเชื่อมโยงกันได้ เมื่อน้องถ่ายภาพสัตว์ป่าและธรรมชาติออกไปเผยแพร่ มันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยกันรณรงค์ให้คนรักสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน ถ้าจะสอนให้เขารัก เขารู้ป่า ก็แค่สอนในหนังสือ แต่ถ้าเราจะสอนให้เขารักป่า ต้องให้เขาเห็น ให้เขาได้สัมผัส”
เต้ย – ปฤษฎิ์ เก่งสูงเนิน และ แบงก์ – ธนาวุธ วรนุช สองช่างภาพสัตว์ป่าหนุ่มรุ่นใหม่ผู้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรถ่ายทอดเทคนิคการถ่ายภาพสัตว์ป่าและธรรมชาติให้กับน้อง ๆ เยาวชน กล่าวว่า ปัจจุบันช่างภาพสัตว์ป่าในเมืองไทยค่อนข้างมีน้อย เพราะสังคมไทยไม่ค่อยปลูกฝังเรื่องนี้ให้กับเด็ก ๆ สื่อที่มีก็ยังไม่ครอบคลุม เด็ก ๆ ไม่ค่อยเข้าถึงข้อมูลเรื่องนี้มากนัก ดังนั้นในฐานะคนรุ่นใหม่ก็อยากนำเสนอสิ่งที่เป็นสัตว์ป่าของไทยจริง ๆ เป็นระบบนิเวศของไทยจริง ๆ ความรู้ด้านสัตว์ป่าที่เป็นของไทยจริง ๆ ออกไปให้เด็กรุ่นใหม่
ด้านเยาวชนที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการอย่าง ที – สุพจน์ สุราแป๊ะตั้ง ปัจจุบันศึกษาชั้น ม.6 โรงเรียนพิมายวิทยา จ.นครราชสีมา เล่าว่า “ปกติก็รักสัตว์อยู่แล้ว แต่เราไม่เคยรู้อุปนิสัยมันในธรรมชาติแบบนี้ ครั้งนี้เราก็ได้รู้เพิ่มขึ้น ลึกซึ้งขึ้น เราได้เห็นทั้งนกเงือกกรามช้าง นกแก๊ก นกเขียวคราม นกขุนทองที่เราเคยเห็นเขาอยู่แต่ในกรง ก็เพิ่งเคยเห็นในธรรมชาติครั้งแรก มันทำให้รู้สึกยิ่งรักสัตว์ป่าต่าง ๆ มากขึ้นไปอีก”
ทิ้งท้ายที่ โบว์ – ธัญญรัตน์ สุขเรือน นิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เผยถึงความรู้สึกว่าจากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้เธอรู้สึกกับสัตว์ป่าเปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอย่างมาก
“ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะไม่เข้าใจเลยค่ะว่า เราจะไปสนใจทำไมว่าสัตว์มันจะเป็นยังไง เราแค่ถ่ายภาพ แต่พอเรามาเห็นเขาจริง ๆ ในธรรมชาติ เราถึงได้รู้ ได้เข้าใจวิถีชีวิตและพฤติกรรมของสัตว์ป่าจริง ๆ เมื่อก่อนจะเห็นแค่ว่าเขาเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง เรายังไม่เห็นถึงความสัมพันธ์ของเขากับธรรมชาติ ความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ ตอนนี้รู้แล้วว่าสัตว์ทุกอย่าง ต้นไม้ทุกต้นคือสัมพันธ์กัน การมาถ่ายภาพต้องเคารพสัตว์ป่า เคารพสถานที่ ไม่ไปรบกวนเขา”