“ลาดกระบังโมเดล”เดินหน้าปลุกจิตสำนึกนศ. รับใช้ชุมชน

ผลักดันให้เป็นโมเดลต้นแบบ ไปสู่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยพัฒนาชุมชนโดยรอบสถาบันการศึกษา ให้เกิดเป็นชุมชนที่น่าอาศัย และมีสภาพแวดล้อมโดยรอบสถาบันที่ดี ได้ในอนาคต

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล.

 

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า สจล. ออกแบบยุทธศาสตร์การพัฒนาด้วยการใช้ “ลาดกระบังโมเดล” ซึ่งนำเอาศักยภาพและจุดแข็งของสถาบันฯ ในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งผสานทั้งองค์ความรู้และการใช้นวัตกรรมเข้ามาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัย และพัฒนาชุมชนอย่างมั่นคง ต่อเนื่อง และมีความสุข ตลอดจนสร้างสำนึกที่ดีในการมีจิตสาธารณะของเหล่าคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของสถาบัน ในการมีส่วนร่วมพัฒนาวิถีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบสถาบัน โดยใช้ “KING MODEL” ตามพระราชดำริของเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10

 

นักศึกษาสจล. ลงพื้นที่จิตอาสา

 

ล่าสุดจากโมเดลดังกล่าว สจล. ได้นำร่องโครงการ “ชุมชนจิตอาสาร่วมใจ พระจอมเกล้าลาดกระบัง 2” กิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชนหัวตะเข้ บริเวณโรงเรียนศึกษาพัฒนา ชุมชนหลวงพรตท่านเลี่ยม ลาดกระบัง กรุงเทพฯ โดยทำการจัดตั้งจุดบริการและลงพื้นที่บำเพ็ญประโยชน์ในด้านต่างๆ ตามความรู้และความเชี่ยวชาญขอล่าคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของสถาบัน อาทิ

 • การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกชุมชน ทาสีสะพานปูน ทำประชาพิจารณ์
ชุมชนเพื่อคัดเลือกแบบสะพานไม้ใหม่ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์
ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
• ขุดลอกลำรางสาธารณะ เปิดทางน้ำไหล พร้อมจัดทำนวัตกรรมถังดักไขมันดีไอวาย
ดักไขมันต้นทางน้ำเสียที่ถูกใช้จากครัวเรือน เพื่อจัดการไขมัน ฟื้นฟู
สภาพแหล่งน้ำเลียบชุมชน โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร

 

• เก็บผักตบชวา วัชพืชน้ำ และนำไปทำเป็นปุ๋ยชุมชน
โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร
• ส่งเสริมการทำขนมสายบัวแดง ขนมที่อยู่คู่ชุมชนอายุกว่า100 ปี สู่การเป็น
สินค้าหลัก อัตลักษณ์ประจำชุมชน โดยคณะอุตสาหกรรมเกษตร
• ครัวจิตอาสา โดยคณะอุตสาหกรรมเกษตร
• การจัดทำไอทีชุมชน เพื่อการเข้าถึงข้อมูลและการส่งเสริม
การท่องเที่ยวในอนาคต โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร
และสำนักบริการคอมพิวเตอร์

การเปิดโครงการจิตอาสาพัฒนาชุมชน ด้วยการใช้ “ลาดกระบังโมเดล” ในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์ เคเอ็มไอทีแอลเน็กซ์ (KMITL NEXT) ในหัวข้อ เน็กซ์แอคชัน (NEXT Action) โดยมุ่งหวังให้เป็นโมเดลต้นแบบในการขยายโครงการ ไปสู่สถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ที่มีกว่า 300 สถาบัน ทั่วประเทศ ให้สามารถผลักดันกระบวนการหล่อหลอมจิตสาธารณะ ในการเป็นบุคคลและบัณฑิตที่สมบูรณ์แบบพร้อมรับใช้สังคมในอนาคต รวมทั้งสะท้อนภาพการเป็นแหล่งทรัพยากรทรงคุณค่าของชุมชน ทั้งด้านวิชาการ และการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของสถานศึกษา

 

อำภา บุณยเกตุ ประธานกลุ่มชุมชนคนรักหัวตะเข้

อำภา บุณยเกตุ ประธานกลุ่มชุมชนคนรักหัวตะเข้ ซี่งอาศัยอยู่ที่ชุมชนนี้มากว่า 55 ปี เล่าว่าเมื่อก่อนชุมชนแห่งนี้เป็นเหมือนศูนย์การค้าหลักชานเมืองที่เคยรุ่งเรือง แต่ในปัจจุบันเนื่องด้วยข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ทำให้สภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ ตลอดจนความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของชุมชนเสื่อมถอยลง ซึ่งทางชุมชนเองใช้ความพยายามอยู่นับ 10 ปี ในการฟื้นฟูสภาพชุมชน

การเข้ามาของ สจล. ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นสภาพชุมชน ที่สามารถเติมเต็มต้นทุนการพัฒนาอย่างแนวคิด แนวทาง และความชำนาญทางวิชาการและเทคโนโลยี ที่ทางชุมชนเองยังคงขาดอยู่ เพื่อช่วยกันพัฒนาชุมชนให้ดียิ่งขึ้น

 

แตงไทย – พสธร ธีระกานตภิรัตน์และกุ๊กไก่ – กชกร ชื่นตา

แตงไทย – พสธร ธีระกานตภิรัตน์ นักศึกษาปี 2 ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ สาวหน้าคมผมยาวมาเป็นจิตอาสาฯโครงการลาดกระบังโมเดล รุ่น 2 วันนี้ได้นำความรู้ที่ได้จากในห้องเรียนมาใช้พัฒนาชุมชน โดยมาตรวจสภาพวงจรไฟฟ้า เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย แม้ว่าการให้บริการในวันนี้อาจจะเป็นเพียงส่วนเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าหากมีการขยายโครงการแบบนี้ไปในวงกว้าง จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศได้ในอนาคต ดังคำกล่าวที่ว่า หากรอบบ้านของเราน่าอยู่ ในบ้านเราก็จะน่าอยู่มากยิ่งขึ้นด้วย

ส่วนกุ๊กไก่ – กชกร ชื่นตา หนุ่มหล่อนักศึกษาปี 2 วันนี้มาช่วยประยุกต์สิ่งของเหลือใช้รอบตัว ให้กลายเป็นถังดักไขมัน หรือ การทำขนมสายบัวแดง ขนมประจำชุมชนที่หากไม่ได้มา ก็จะไม่รู้จัก นอกจากนี้ กิจกรรมเหล่านี้ทำให้นักศึกษาได้ทำเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถช่วยยกระดับชุมชนให้เป็นชุมชนน่าอยู่ โดยยังคงความเป็นเอกลักษณ์ เพิ่มความน่าสนใจและสามารถโปรโมทการท่องเที่ยวตลาดเก่าริมน้ำชุมชนหัวตะเข้ ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ซึ่งน่าจะช่วยเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ให้มีรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

Stay Connected
Latest News