เบื้องหลังขายเสื้อละครดัง ช่อง 3 เงินไปไหน ?

การขายเสื้อยืดละคร ช่อง 3 แล้วนำรายได้จากการขาย “บริจาค” ให้องค์กรการกุศลหรือโรงพยาบาล เป็น CSR แบบเร็ว ไม่ซับซ้อน เป็นแนวทางของผู้จัด ทีมงานละคร นักแสดง และพนักงานช่อง 3 ร่วมทำบุญทำประโยชน์ต่อสังคมในเวลาเดียวกันด้วย


หากสังเกตุช่วงละคร 2 ทุ่มยี่สิบ Prime Time ของช่อง 3 จะเห็นว่า ละครแต่ละเรื่องมักจะมีกิจกรรม “ขายเสื้อยืดละคร” เรื่องนั้นๆ ก่อนที่จะออนแอร์ และหลังจากออนแอร์ไปแล้วไม่นานนัก จากนั้นนำรายได้จากการขายเสื้อทั้งที่ไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น หรือหักค่าใช้จ่ายแล้ว นำเงินไปบริจาคในองค์กรการกุศลต่างๆ ตามที่พระเอกนางเอกประกาศไว้ในละคร

“การทำเสื้อยืดละครขาย และนำเงินไปบริจาคให้องค์กรการกุศล โดยไม่หักค่าใช้จ่ายนั้น เป็นสิ่งที่ทำมานานต่อเนื่อง เพราะถือเป็นการร่วมกับแฟนๆ ละครทำบุญ และสังคมที่เราอยู่ก็ได้ประโยชน์พร้อมกัน ซึ่งในมุมมองส่วนตัวคิดว่าการบริจาคเป็นเงิน จะค่อนข้างง่ายที่สุด เพราะองค์กรที่รับก็สามารถนำไปใช้ได้ตามความจำเป็นทันที”

ณัฏฐนันท์ ฉวีวงษ์ ในวันเปิดละครหนึ่งด้าวฟ้าเดียว และแฟนละครซื้อเสื้อยืด ร่วมทำบุญ ที่หน้างาน และทางเฟสบุกซึ่งเตรียมการส่งเสื้อทางไปรษณีย์

ณัฏฐนันท์ ฉวีวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีวีซีน จำกัด ผู้จัดละครช่อง 3 ยกตัวอย่างเพิ่มเติมกับ SD Thailand ว่า ละครชั่วโมงต้องมนต์ ได้มอบเงินรายได้จากการขายเสื้อของละคร ให้กับมูลนิธิเด็กกำพร้า ซึ่งในละครมีเนื้อหา CSR ช่วยเด็กกำพร้า

“ส่วนละครหนึ่งด้าวฟ้าเดียว เรามอบเงินจากการขายเสื้อให้กับโรงพยาบาลทหารผ่านศึก เพราะละครมีเนื้อหาเกี่ยวกับนักรบ หทาร แต่ถ้าเป็นละครที่สร้างไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด รายได้จากการขายเสื้อจะบริจาคให้โรงพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมาก็มอบให้หลายโรงพยาบาล”

ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารสายกิจการองค์กร บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เล่าให้ SD Thailand ฟังถึงเรื่องการขายเสื้อยืดละครเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่กำลังออกอากาศขณะนี้ คมแฝก หนึ่งด้าวฟ้าเดียว เสน่ห์รักนางซิน และลิขิตรัก นับเป็นการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของผู้จัด ทีมงานละคร นักแสดง และพนักงานช่อง 3 ล้วนเกิดจากจิตอาสาที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคมของพวกเขา

“การทำเสื้อเป็นสิ่งที่ง่าย และรวดเร็วที่สุดก็เลยเป็นทางเลือกแรกๆ จึงเกิดการระดมทุนเพื่อช่วยองค์กรการกุศลขึ้น เพราะเมื่อแฟนๆ ละคร และแฟนคลับของน้องๆ นักแสดงอยากได้ของเป็นที่ระลึก พวกเขาก็สามารถได้เสื้อไว้ใส่เป็นที่ระลึก ใช้งานได้จริง ราคาเหมาะสม แล้วก็ยังเป็นการร่วมกันทำบุญทำประโยชน์ต่อสังคมในเวลาเดียวกันด้วย”

ประชุม มาลีนนท์ ชาคริต ดิเรกวัฒนา วรุณเทพ วัชราภรณ์ ร่วมงานเปิดตัวละครหนึ่งด้าวฟ้าเดียว
ชาคริตอธิบายต่อเนื่องถึงการเลือกองค์กรที่จะสนับสนุน  ซึ่งไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะทุกองค์กรการกุศลล้วนมีความจำเป็น และต้องการที่จะได้รับการสนับสนุนอยู่แล้ว ผู้จัดและทีมงานก็จะเลือกองค์กรที่ตนเองเห็นว่ามีความเหมาะสม หรือเห็นว่ามีความต้องการที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด่วนที่สุด ก็จะเลือกให้ความช่วยเหลือองค์กรนั้นก่อน

“บางครั้งนอกจากการบริจาคเงินจากรายได้ขายเสื้อ พวกเราก็จะลงไปถึงพื้นที่ เพื่อทำกิจกรรมกับชุมชน หรือองค์กรการกุศลด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นงานที่พวกเราสามารถจะสร้างความแตกต่างให้สังคมได้มากกว่าแค่ความสนุกสนานเพียงมุมเดียว”

นับเป็น 1 ใน 7 แบบ CSR ของฟิลลิป คอตเลอร์ ในเรื่อง “การบริจาคเพื่อการกุศล” (Corporate Philanthropy) เป็นการช่วยเหลือไปที่ประเด็นปัญหาทางสังคมโดยตรง ในรูปของการบริจาคเงินหรือวัตถุสิ่งของ ซึ่งทุกบริษัทจะเลือกใช้แบบนี้เป็นพื้นฐานได้เร็ว ไม่ซับซ้อน

ข่าวเกี่ยวข้อง

Stay Connected
Latest News