WHO ยังได้คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2583 ยอดผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเพิ่มขึ้นเป็น 642 ล้านคน ซึ่งเปรียบเสมือน “ภัยมีด” ที่คร่าชีวิต 1 คนในทุกๆ 6 นาที เลยทีเดียว
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุให้หยุดการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยเบาหวาน เป็นเป้าหมาย 1 ใน 9 เป้าหมายของการดูแลกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เนื่องด้วยสถิติผู้ป่วยเบาหวานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นที่น่ากังวล
นพ. มรุต จิรเศรษฐสิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศ. เกียรติคุณ พญ. วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ศ. คลินิก นพ. วีระศักดิ์ ศรินนภากร นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม โรงพยาบาลราชวิถี ร่วมเปิดเผยถึงภัยมืดคร่าชีวิตคนไทยว่า จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนมีบทบาทสำคัญ พร้อมเดินหน้าสร้าง “เครือข่ายชมรมเบาหวานในประเทศไทย” ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มั่นใจช่วยลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานในอนาคตได้จริง
ปัจจุบัน มีผู้ป่วยเบาหวานเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2 แสนคนต่อปี เสียชีวิตถึงปีละ 8,000 คน
ปัจจัยหลักเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย และพบว่าคนรุ่นใหม่มีโอกาสเป็นเบาหวานสูงขึ้นจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป
นอกจากนี้ ข้อมูลของสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
ประเทศไทยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานเฉลี่ยสูงถึง 47,596 ล้านบาทต่อปี และที่น่าเป็นห่วงคือ มีคนไทยที่เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานอีก 7.7 ล้านคน ซึ่งคาดว่ากลุ่มเสี่ยงเหล่านี้จะกลายเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานในอัตราร้อยละ 5-10 /ปี
กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญโดยได้บรรจุให้โรคเบาหวานอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทยสุขภาพดีวิถีไทย พ.ศ.2554-2563 และรวมไปถึง UNDP หรือโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทย โดยการสนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์ในการต่อสู้กับโรคเบาหวานมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ พบว่าคนไทยที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วส่วนใหญ่คือเกินครึ่งหนึ่งยังควบคุมเบาหวานไม่ได้ตามเป้าหมาย ในฐานะสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ได้ตระหนักและเร่งระดมความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในทุกภาคส่วนเพื่อร่วมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจด้วยวิธีการต่างๆ รวมถึงมีการสร้าง “เครือข่ายชมรมเบาหวานในประเทศไทย” เพื่อเชื่อมโยงชมรมเบาหวานที่มีอยู่บ้างแล้วเข้าด้วยกัน โดยได้เริ่มโครงการเครือข่ายชมรมเบาหวานมาตั้งแต่ปี 2557 และได้ร่วมกับโรงพยาบาลในภูมิภาคต่างๆ ให้มีการจัดตั้งชมรมเบาหวานเพิ่มขึ้นและเชื่อมโยงชมรมทั้งหมดเป็น “เครือข่ายชมรมเบาหวาน” เพื่อให้เกิดการพัฒนาการดูแลรักษาและควบคุมโรคเบาหวานครอบคลุมทั้งประเทศ
ภาครัฐต้องส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
1. ไม่มีความรู้/ขาดทักษะ: การแก้ไขต้องให้ความรู้และสร้างทักษะให้ผู้ป่วยและญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วย
2. มีความรู้แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม: ต้องมีการพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเสริมสร้างพลังใจ
3. มีความรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สามารถดูแลตนเองและแนะนำผู้อื่นได้
อุไร พันธุมโพธิ อายุ 90 ปี เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลสุดยอดผู้ป่วยเบาหวาน เล่าให้ฟังว่า จากการเข้าร่วมเครือข่ายชมรมเบาหวาน ทำให้ทุกวันนี้ ป้าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี ไม่มีภาวะโรคแทรกซ้อนใดๆ จึงเป็นที่มาของรางวัล “สุดยอดผู้ป่วยเบาหวาน” สิ่งสำคัญจากที่ได้เข้าร่วมเครือข่าย คือผู้ป่วยสามารถเข้าถึงแพทย์และพยาบาลได้อย่างใกล้ชิด โดยใช้สื่อโซเซียลมีเดียเป็นตัวกลางในการสื่อสาร ทั้งกลุ่มไลน์, เฟซบุ๊ก ฯลฯ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์จะร่วมอยู่ในกลุ่มด้วย สงสัยก็สอบภามได้ทันที
ทั้งนี้ การดูแลผู้ป่วยเบาหวานจะต้องทำ 3 สิ่งหลักๆ ควบคู่กันไป คือ
1.การถ่ายทอดความรู้และทักษะที่ถูกต้องไปยังผู้ป่วย ครอบครัวผู้ป่วย และผู้สนใจในแต่ละชมรมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
2.การพัฒนาการสื่อสารทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจำเป็นต้องไตร่ตรอง ถึงความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารและแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ รวมถึงต้องใช้สื่อออนไลน์อย่างเข้าใจ
3.การพัฒนาชมรมเบาหวาน ให้เป็นพลังสำคัญและนับเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการดูแลรักษาผู้เป็นเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ได้ที่เว็บไซต์สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ www.DMThai.org หรือ Facebook: สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ