นับเป็นการ สร้างมูลค่าให้กิจการด้วย Sustainable Procurement หรือการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัททุกขนาด เพราะ กระบวนการผลิต ส่งมอบ บริโภค และกำจัดของเสียของภาคธุรกิจล้วนส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
“การจัดซื้อจัดจ้าง” เป็นกลยุทธ์สำคัญของธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินค้า บริการ และช่วยบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันองค์กรชั้นนำของโลกใช้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเครื่องมือแสดงความรับผิดชอบต่อผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน เช่น คู่ค้า ลูกค้า รวมถึงช่วยลดผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เหล่านี้เรียกว่า การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน (Sustainable Procurement)
การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน คือ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่พิจารณาปัจจัยด้านราคา การส่งมอบ และคุณสมบัติที่ครอบคลุมประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเนื่องจากปฏิบัติได้ง่าย เพียงแค่เพิ่มปัจจัยและเงื่อนไขด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในกระบวนการพิจารณาจัดซื้อจัดจ้าง โดยผลงานวิจัยระดับโลกพบว่า
การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนช่วยลดต้นทุน (Cost Saving) ลดความเสี่ยง (Risk Reduction) เพิ่มมูลค่าตราสินค้า(Brand Value) เช่น งานวิจัยเรื่อง Beyond Supply Chains – Empowering Responsible Value Chains โดย World Economic Forum (ปี 2015) ระบุว่าองค์กรที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Responsible Supply Chain) มีรายได้เพิ่มขึ้น 5-20% ต้นทุนลดลง 5-15% มูลค่าของตราสินค้าเพิ่มขึ้น 10-25% และช่วยลดความเสี่ยงจากการที่คู่ค้าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงได้
งานวิจัยเรื่อง Value of Sustainable Procurement Practices โดย INSEAD, EcoVadis และ PwC (ปี 2010) พบว่าบริษัทสามารถลดต้นทุนลง 0.05% และมีรายได้เพิ่มขึ้น 0.5% จากการพิจารณาความเสี่ยงในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ดูแลผู้บริโภค ใช้แรงงานเด็ก และการทำลายสิ่งแวดล้อม สำหรับบริษัทที่ไม่ได้คำนึงถึง ประเด็นดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 0.7% และส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ลดลงถึง 12%
สำหรับในส่วนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเอง ได้สนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนให้มีการปฏิบัติอย่างแพร่หลายในห่วงโซ่อุปทาน โดยจัดทำและเผยแพร่คู่มือจรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้า (SET’s Supplier Code of Conduct) ให้คู่ค้าของตลาดหลักทรัพย์ฯ รับทราบตั้งแต่ปี 2558 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและคำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยมีคู่ค้าที่ร่วมลงนามรับทราบเจตนารมณ์ดังกล่าวแล้ว 80%และตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงเดินหน้าส่งเสริมให้ครอบคลุมคู่ค้าทุกราย
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแนวปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) เพื่อสื่อสารให้พนักงานและคู่ค้าเกิดการมีส่วนร่วมในการให้ความสำคัญกับมิติสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งมุ่งมั่นที่จะขยายผลไปสู่บริษัทจดทะเบียนให้นำเรื่อง Green Procurement ไปปฏิบัติอย่างแพร่หลายด้วย
ข้อมูลโดย
อรุณี ตันติมังกร และ ศุภกร เอกชัยไพบูลย์
ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย