เกื้อหนุนชีวิตเด็กในแคมป์ก่อสร้าง

ยูนิเซฟและมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก เผย พบเด็กจำนวนมากในแคมป์ก่อสร้างท้าทายด้านคุณภาพชีวิตหลายรูปแบบ จะต้องมีเอกชนช่วย แสนสิริและอารียา เป็นตัวอย่างที่เข้ามาช่วยเด็กในแคมป์ ยืนยันได้ผลดีทั้งกับบริษัทและสังคม

 

จากขวา อภิชาติ จูตระกูล ,โธมัส ดาวิน ,นิโคลา ครอสตา และวิศิษฎ์ เลาหพูนรังษี

นิโคลา ครอสตา ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก ได้ริเริ่มทำรายงาน “ สร้างสรรค์อนาคตประเทศไทย : เกื้อหนุนชีวิตเด็กในแคมป์ก่อสร้าง” โดยเก็บข้อมูลจากที่พักคนงาน 21 แห่งของบริษัทก่อสร้าง พบว่าเด็กจำนวน 6 หมื่นคนกำลังประสบปัญหาหลัก 4 ประการคือ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน , สิทธิ ,สุขภาพและการศึกษา พร้อมทั้งเสนอแนะ 12 แนวทางปฏิบัติ เพื่อให้บริษัทในภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตเด็กข้ามชาติในแคมป์ก่อสร้างทั่วประเทศอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ นิโคลาได้กล่าวว่า “ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรามีโอกาสร่วมงานกับบริษัทต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงด้านที่พักอาศัยและการดูแลด้านโครงการพื้นฐาน ด้านสิทธิเด็ก ด้านสุขภาพ และด้านการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กที่อาศัยอยู่ตามแคมป์ก่อสร้าง แนวทางในการแก้ปัญหาที่ได้ผล และไม่เพียงเป็นแค่การให้ความช่วยเหลือเด็ก ๆ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการดำเนินกิจการของบริษัทเหล่านี้ด้วย”

ส่วนเอกชนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เข้ามาร่วมโครงการนี้คือ แสนสิริ ร่วมกับวิศวภัทร ยูนิเซฟและมูลนิธิเครือข่ายฯ ทำโครงการ Good Space ในที่พักคนงานก่อสร้างทั้งหมด 30 แห่งทั่วประเทศ เมื่อปี 2557

อภิชาติ จูตระกูล ประธานอำนวยการ บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงโครงการ Good Space ว่า “ เราทำโครงการนี้มาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยจัดวัคซีนฉีดยา จัดศูนย์การเรียนรู้ด้านภาษา รวมทั้งทำเป็นสถานที่ปลอดภัยแก่เด็ก ๆ เราได้เห็นสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นกับบริษัท การทำกำไร ไม่ใช่เพียงแค่ตัวแลขเท่านั้น แต่เรามีความเชื่อว่าวิธีการแบบนี้ทำให้เราสามารถเก็บคนงานให้อยู่กับเราได้นานขึ้น เพราะถ้าพ่อแม่สามารถทำงานให้กับเราได้โดยไม่ต้องห่วงลูก ๆ ที่อยู่ในบ้านพักคนงาน เราก็สามารถเก็บรักษาคนงานอยู่กับเรานาน ๆ”

เอกชนอีกแห่งหนึ่งที่ได้ริเริ่มทำงานจริงจังกับคุณภาพชีวิตของเด็กในแคมป์คนงานก่อสร้างคือ บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) โดยปี2558 ได้ร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนในท้องถิ่น เพื่อสร้างและบริหารศูนย์การเรียนรู้ 5 แห่ง ภายในบริเวณบ้านพักคนงานก่อสร้าง จัดการศึกษานอกระบบให้กับเด็กข้ามชาติ 45 คน

 

วิศิษฎ์ เลาหพูนรังษี ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)

วิศิษฎ์ เลาหพูนรังษี ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า “ ช่วง 10 ปีแรกของการตั้งบริษัท เรามีปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงารนที่ถูกดึงตัวไป เราจึงวางแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราเริ่มทำแคมป์ที่สะอาด มีการจัดสนามเด็กเล่น ร้านขายของชำ ปัจจุบันเรามี 6 ไซต์งาน 6 โลเคชั่น เราเริ่มทำโรงเรียนเพื่อให้เด็กปลอดภัยไม่ต้องเข้าไปยุ่งกับการทำงานของพ่อแม่ ตอนนี้เราสามารถส่งเด็ก 20 % ออกไปเรียนภาคปกติได้แล้ว และเราคงทำต่อไป ผมอยากบอกว่าเด็กเหล่านี้คือทรัพยกชากร ถ้าไม่ดูแลจะเป็นปัญหาสังคม แต่ถ้าเราดูแลดีพวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญของ South East Asia เพราะเด็กว่า 95 % ในแคมป์คือเด็กข้ามชาติ”

กิจกรรมเกื้อหนุนชีวิตเด็กในแคมป์ก่อสร้างบางส่วน ของศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กในสถานที่ก่อสร้าง หรือ Child Friendly Space ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนผ่านการให้ความรู้และส่งเสริมด้านทักษะชีวิต อาทิ วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ศิลปะ และการปลูกฝังความคิดที่ดีในทุกด้าน ตลอดจนการตรวจสุขภาพร่างกาย และดูแลด้านสุขอนามัยโดยรวม เพื่อสร้างรากฐานอนาคตที่ดีและความสุขอย่างยั่งยืน

โทมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การ องค์กรยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวสรุปว่า “ รายงานฉบับนี้เป็นโครงการริเริ่มที่ดี มีเอกชนเข้ามาช่วย แต่ยังน้อยเกินไป ไม่มีใครสามรรถแก้ปัญหาตามลำพังได้ จำเป็นต้องได้รับการขยายผลไปสู่ระดับประเทศผ่านการพัฒนาทั้งภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ได้ตลอดชั่วอายุคน”

Stay Connected
Latest News