เบทาโกร จับมือจุฬาฯ เปิดตัวโครงการ Social Shaker Season 1 ภายใต้ความสัมพันธ์ของ 3 ส่วน มหาวิทยาลัย ธุรกิจ รัฐบาล พัฒนาชุมชนแนวใหม่ที่หลุดออกจากกรอบเดิม
ในงานเสวนาหัวข้อ “ความร่วมมือในรูปแบบ U-I-G (University, Industry, Government) สู่ผลกระทบที่มากขึ้นในการพัฒนาสังคม” โดยผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือเบทาโกร มณีรัตน์ อนุโลมสมัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (Thailand) ต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการผู้จัดการประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) และ ชยุตม์ สกุลคู ประธานบริษัท Tact Social Enterprise ได้กล่าวถึงความร่วมมือดังกล่าว โดยมีบริษัท Tact Social Enterprise ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนามกลุ่ม STEPS ภายใต้การดูแลของสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการสนับสนุนจากเครือเบทาโกร เข้ามาดำเนินงานเชื่อมโยงระหว่าง 3 ภาคส่วน
ความร่วมมือดังกล่าว ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม ผลักดันให้นิสิตนักศึกษาได้พัฒนาทักษะของตนเองผ่านการทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยบริหารจัดการงบประมาณด้าน CSR ของบริษัทเอกชน ให้ตอบโจทย์ความต้องการจริงของชุมชน เพื่อให้เกิดเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งลักษณะการดำเนินงานร่วมกันแบบ U-I-G มีลักษณะดังนี้
University: ใช้พลังและสติปัญญาของนิสิตในการดำเนินกิจกรรมพัฒนาชุมชน เพื่อกระจายองค์ความรู้ภายในมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง นำไปสู่การพัฒนาทักษะในการทำงานของนิสิตรวมไปถึงจิตสำนึกต่อสังคม
Industry: จัดสรรงบประมาณซีเอสอาร์ภายในบริษัทให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมมากยิ่งขึ้น นำไปสู่ความยั่งยืนของชุมชนพื้นที่และความยั่งยืนขององค์กร
Government: เปิดรับความร่วมมือจากองค์กรภายนอกเข้ามาร่วมพัฒนาอย่างมีทิศทาง โดยอาศัยโจทย์จากความต้องการจริงของชุมชน ดำเนินการโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนอยู่เสมอ
สำหรับ Social Shaker Season 1 ในปีพ.ศ.2561 นี้ จะดำเนินโครงการพัฒนาสังคม ด้วยกัน 3 โครงการ ได้แก่
1.โครงการพัฒนานักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ในอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ให้เกิดการพัฒนาจุดแข็ง มีการวางแผนชีวิต และเกิดความตระหนักถึงสังคมส่วนรวม ผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียน
2.โครงการพัฒนาร้านอาหารให้มีคุณภาพ ทั้งในมิติของ ความปลอดภัยและคุณภาพ (Safety & Quality) ประสิทธิภาพ (Efficiency) ประสบการณ์ร่วมของลูกค้า (Customer Experience) เพื่อแก้ไขปัญหาของร้านอาหารในสังคมเมือง
3.โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-based Tourism) ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ และออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ชุมชน