Levi’s เปลี่ยนซัพพลายเชนแฟชั่น ผุดกระบวนการผลิตด้วยดิจิทัลใหม่ ช่วยกำจัดการใช้สารเคมีอันตราย ที่ใช้มานานในอุตสาหกรรมการผลิตยีนส์
Levi Strauss & Co.(LS&Co.) นำโครงการนี้มีชื่อว่า F.L.X หรือ Future-led execution เป็นกระบวนการตกแต่งยีนส์อัตโนมัติ ที่จะเข้ามาแทนที่เทคนิคทำมือ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทลดการใช้สารเคมีจำนวนมากในขั้นตอนนี้ โดยเป็นการออกแบบให้สียีนส์ซีดลง ซึ่งการใช้วิธีแบบเก่านั้นจำเป็นต้องใช้แรงงานคน และมีกระบวนการใช้สารเคมีเข้มข้น
“เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ยีนส์มีเพียง 3 เฉดสีเท่านั้น ได้แก่ Rinsed, Stonewashed และ Bleached แต่ในวันนี้เกิดเฉดสีที่หลากหลายมากขึ้น โดยทั้งหมดนั้นถูกผลิตขึ้นมาด้วยแรงงานคนจำนวนมาก และใช้ส่วนผสมเคมีมากเช่นกัน เรากำลังออกแบบยีนส์ที่ไร้สารเคมีปนเปื้อนเพื่อโลกและผู้สวมใส่ยีนส์ Levi’s ซึ่งเป็นวิธีการที่ยังไม่มีใครทำได้”
Bart Sights รองประธานด้านนวัตกรรมทางเทคนิคแห่ง LS&Co. และหัวหน้าบริษัท Eureka Innovation Lab กล่าว
ต้นแบบการตกแต่งยีนส์แบบใหม่นี้ได้สร้างขึ้นบนพื้นฐาน Commitment ของ LS&Co. ที่ต้องการประสบความสำเร็จในการลดสารเคมีอันตรายให้เหลือศูนย์ หรือ ZDHC ภายในปี 2020 และเร่งกำจัดส่วนผสมเคมีหลายชนิดที่โปรแกรม Screened Chemistry ของบริษัทระบุว่าเป็น Phase outs โดยหนึ่งในส่วนผสมเคมีที่ต้องถูกกำจัดไปนั้น ได้แก่ Potassium Permanganate ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม เพื่อเลียนแบบงานตกแต่งสไตล์วินเทจของแท้
“นี่เป็นชัยชนะที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรม และยังเป็นแรงบันดาลใจที่เห็น LS&Co. ในการใช้ข้อจำกัดต่างๆ ขับเคลื่อนนวัตกรรม เป็นการปูทางให้กับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มที่ยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นก้าวที่สำคัญที่ผมหวังว่าคนอื่นๆจะปฏิบัติตาม”
Robert Strand กรรมการบริหารบริษัท Berkeley-Haas Center for Responsible Business ได้กล่าวเสริม
นอกเหนือจากการกำจัดสารเคมีมากมายแล้ว โครงการ F.L.X. ยังได้รับการคาดการณ์ว่าจะช่วยลดขยะเสื้อผ้าได้เช่นกัน โดยจะเน้นการผลิตสินค้าที่ตลาดต้องการมากขึ้นและยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการประหยัดน้ำในอนาคตด้วย ทางบริษัทได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถใช้น้ำจากการรีไซเคิลในขั้นตอนการผลิตได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ผ่านโครงการ F.L.X. และกำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการผลักดันความสามารถในการรีไซเคิลน้ำให้แพร่หลายขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
เพื่อช่วยปลดล็อคประโยชน์ของการออกแบบ และการพัฒนาด้วยดิจิทัล Levi Strauss ได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง Jeanologia ผู้นำด้านวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนเพื่อการตกแต่งสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย โดยตั้งแต่ปี 1993 ทาง Jeanologia ได้ดำเนินการด้วยจุดมุ่งหมายในการพัฒนาการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่ยั่งยืนโดยการนำ Disruptive Technologies มาใช้ ซึ่งได้แก่ โอโซน เลเซอร์ และระบบ e-flow finishing นับเป็นความคล้ายกันของบริษัท ที่มุ่งเน้นความยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญในการให้การสนับสนุน LS&Co. ตั้งแต่ต้นจนจบด้วยวิสัยทัศน์การเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืน
ที่มา