เปลี่ยนพื้นผิวน้ำจืด ผลิตพลังงานไฟฟ้า ! ประหยัดเงิน & คืนทุนใน 8 ปี

ประเทศไทยมี “พื้นผิวน้ำจืด” ที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ 14,000 ตารางกิโลเมตร ราวๆ 9 ล้านไร่ หรือ 3% ของพื้นที่ประเทศ เอสซีจี เคมิคอลส์ ส่ง Floating Solar Farm นวัตกรรมผลิตไฟฟ้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตอบโจทย์ในพื้นที่นั้น

“ ปัจจุบันเอสซีจี เคมิคอลส์มีแนวทางพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์โลกในอนาคต เราเห็นว่าพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นพลังงานในอนาคตที่มีศักยภาพสูง” ชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าว

ดังนั้น ภารกิจหลักของ กลุ่มเอสซีจี เคมิคอลส์ จึงมุ่งสร้างความแตกต่างด้านสินค้าและบริการผ่านการนำเสนอในรูปแบบโซลูชั่นครบวงจร ด้วยกระบวนการค้นหาความต้องการเชิงลึกของลูกค้าและผู้บริโภค เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างแท้จริง โดยนำการวิจัยและพัฒนา (R&D) มาเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือ HVA (High Value Added Products and Services)

ชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์

โดยคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง และการร่วมมือกับลูกค้าเชิงลึกเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน นอกจากนี้ยังได้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ (Eco-Innovation ) ผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจันกับสถาบันชั้นนำระดับโลก

สำหรับปี 2561 เอสซีจี เคมิคอลส์ ตั้งงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนากว่า 3,600 ล้านบาท เพื่อผลักดันงานวิจัยสู่ตลาดทั้งในระดับประเทศ อาเซียน และระดับโลก โดยมีการวิจัยและพัฒนาที่หลากหลายทั้งนวัตกรรมพลาสติกและNon-Petochemicals

ล่าสุด ประกาศเปิดตัว “ โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ” หรือ Floating Solar Farm ในรูปแบบโซลูชั่นครบวงจร เป็นรายแรกของประเทศไทย

ทีมผู้บริหารกลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ ในเอสซีจี

ชลณัฐกล่าวว่า “ โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ เป็นไอเดียแปลกใหม่ เพราะแผงโซล่าปกติติดตั้งบนหลังคาหรือบนดิน แต่เราเอานวัตกรรมใส่ลงไป แผงโซล่าซื้อจากต่างประเทศ และมีการนำเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเกรดพิเศษ มาพัฒนาต่อยอดเป็นทุ่นลอยน้ำซึ่งใช้ติดตั้งแผงโซล่า ซึ่งทุ่นนี้มีอายุการใช้งานนานถึง 20-25 ปี และสามารถรีไซเคิลได้ด้วย ”

เหตุผลของการพัฒนา “ โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ” เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสความเป็นไปได้จากการเปลี่ยนพื้นผิวน้ำให้เป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า เพราะประเทศไทยมีพื้นผิวน้ำจืดที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ 14,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 9 ล้านไร่ คิดเป็น 3% ของพื้นที่ประเทศ

ขณะนี้ได้ใช้พื้นที่บ่อน้ำในโรงงานที่ จ.ระยองจำนวน 7 ไร่ มาทดลองทำโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ด้วยเงินลงทุน 40 ล้านบาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์ หรือต้นทุนการผลิต 2.5 บาท/หน่วย ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตขายอยู่ 4.0 บาท/หน่วย สามารถคืนทุนได้ภายใน 8 ปี
“โดรน” กำลังบินตรวจสอบสภาพการใช้งานของแผ่นโซลาร์

ด้านการบำรุงรักษานั้น กลุ่มเอสซีจี เคมิคอลส์ได้พัฒนาโดรนติดกล้องเซนเซอร์ ทำการบินสำรวจ บันทึกภาพและตรวจสอบค่าความร้อน เพื่อนำมาวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์ รวมทั้งทีมวิศวกรได้ประดิษฐ์คิดค้นหุ่นยนต์ดำน้ำเพื่อตรวจสอบทุ่นและโครงสร้างใต้น้ำ

โดยลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่หรือบ่อบำบัด ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการลูกค้าติดต่อมาแล้วหลายราย โดยเอซีจี เคมิคอลส์มีจุดแข็งคือการผลิตติดตั้งแบบครบวงจร

เอสซีจี เคมิคอลส์ได้ทำการศึกษาวิจัย “โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ” นี้มาได้ 6 เดือนแล้ว โดยไปดูงานที่ญี่ปุ่นซึ่งผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่ ขณะที่เทคโนโลยีเรื่องทุ่นเป็นของฝรั่งเศส จากนั้นจึงกลับมาพัฒนาจนกลายมาเป็นโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่มีโซลูชั่นครบวงจร ตั้งแต่การติดตั้งไปจนถึงการดูแลรักษา ซ่อมบำรุง

เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบแผ่นโซลาร์

การติดตั้ง”โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ” จะมีปัญหาต่อระบบนิเวศน์ใต้น้ำหรือไม่นั้น วิศวกรของเอสซีจี เคมิคอลส์ เปิดเผยว่า ผลการวิจัยของญี่ปุ่นพบว่าเมื่อติดตั้งแผงโซลาร์ฟาร์มบนน้ำ ซึ่งมีระยะห่างของทุ่นประมาณ 15 ซ.ม.เพื่อให้แสงแดดส่องลงไปยังใต้น้ำได้นั้น กลับเป็นผลดีต่อสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ เพราะมีพื้นที่ร่มให้ทั้งพืชและสัตว์ใต้น้ำได้หลบแสงแดด   นอกจากนี้ปลายังสามารถวางไข่บนสาหร่ายใต้น้ำแทนการไปวางไข่ตามริมตลิ่งซึ่งจะมีสัตว์มากินไข่ จึงทำให้ปลาในบริเวณนั้นชุกชุมและมีขนาดใหญ่ ส่วนพืชใต้น้ำก็ได้แสงแดดพอเหมาะก็เจริญเติบโตกลายเป็นอาหารของปลาได้อีกด้วย

ข่าวเกี่ยวข้อง

Stay Connected
Latest News