CSR, SD, CSV, SE, SB, ESG, CG สถาบันไทยพัฒน์มองว่า ทั้ง 7 คำดังกล่าว ในระดับองค์กร จัดเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรคาดหวังให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้ก่อตั้ง และอดีตผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ เล่าถึงทิศทาง CSR ของปี 2561 โดยส่วนหนึ่งอธิบายถึงคำทั้ง 7 คำดังกล่าวข้างต้นว่า ทุกคำยังคงต้องใช้กันอยู่ ไม่สามารถพูดได้คำใดคำหนึ่งล้าสมัย หรือองค์กรไม่ใช้คำนั้นทำงานแล้ว เพราะแต่ละคำต่างก็มีบทบาทของตัวเองที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะเลือกใช้ หรือใช้ร่วมกัน เพื่อให้เกิด “ความยั่งยืนขององค์กร” หรือ “ความยั่งยืนของแบรนด์”
“องค์กรที่มาระบุเรื่องที่ทำ และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างครอบคลุมจะรับรู้ถึงมณฑลแห่งความยั่งยืน หรือ Sphere of Sustainability ซึ่งมีทั้ง 7 คำ สำหรับกิจการของตน ที่สามารถใช้เป็นพิมพ์เขียวในการพัฒนาวิธีการที่จะดำเนินการได้”
เริ่มจาก CSR ผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบกิจการ ความยั่งยืนนี้จะเกิดจาการคำนึงถึงผลกระทบจากการดำเนินงานที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละกลุ่ม ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม มากกว่าที่กฎหมายกำหนด Corporate Social Responsibility ยังเป็นหลักปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานสากล
มาถึง SD จะเกี่ยวข้องกับสังคมวงกว้างความยั่งยืน ในกรณีนี้จะเกิดจากการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ในฐานะพลเมืองของสังคม พลเมืองประเทศ และพลเมืองโลก ซึ่ง Sustainable Development จึงมิได้หมายถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรตัวเองเท่านั้น
CSV เกิดจากการวางกลยุทธ์การดำเนินงาน ที่สามารถส่งมอบประโยชน์ ให้ทั้งกับผู้มีส่วนได้เสีย ภายในและภายนอกองค์กร เป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกหรือ Creative Shared Value ระหว่างธุรกิจ และสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน
SE และ SB เมื่อกิจการยังสามารถพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่ หรือจัดตั้งธุรกิจใหม่ โดยมีพันธกิจดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง ด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้หรือ Social Enterprise และ Social Business
ESG ผู้ที่มองเรื่องนี้ มักเป็นนักลงทุนสถาบัน ที่มองความยั่งยืนขององค์กรที่เป็นไปอย่างรับผิดชอบ เปิดเผยข้อมูล ประเด็น Environmental, Social, Governance ให้แก่ผู้ลงทุน นอกเหนือจากปัจจัยด้านผลตอบแทน และความเสี่ยงของกิจการ
CG น่าจะถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกองค์กรต้องมี Corporate Governance กำหนดทิศทางสอดส่องดูแลการปฏิบัติงานขององค์กรถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เจริญรุดหน้า ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กรได้
ดร.พิพัฒน์ย้ำว่า Sphere of Sustainability อธิบายความสัมพันธ์ทั้ง 7 คำ โดยแต่ละเรื่องมีเหตุผลของการดำรงอยู่ ตามบริบทที่เรื่องนั้นเข้าไปเกี่ยวข้อง มิใช่เรื่องที่นำมาใช้แทนกันได้ หากสามารถใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดองค์รวมแห่งความยั่งยืน