คนราวๆ 13,000 คน ทั่วโลกที่ได้รวมกลุ่มกันในเทศกาล Wonderfruit ที่ The Field ในเมืองพัทยา เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นเทศกาลครั้งที่ใหญ่ที่สุดในรอบปี
เทศกาลดนตรี Wonderfruit ได้กำหนดวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนใหม่ เช่น การใช้สกุลเงินดิจิทัล และการใช้ภาชนะอาหารที่ย่อยสลายทางชีวภาพ แต่บรรลุเป้าหมายไหม?
ประเทศไทยถือเป็นผู้นำด้านศิลปะ ดนตรีและไลฟ์สไตล์ Wonderfruit ได้แสดงให้เห็นว่า การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน ก็มีความสร้างสรรค์ มีชีวิตชีวาและสนุกสนานได้
ปณิธาน พรประภา หรือ พีท ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งและครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ ได้กล่าวถึงเทศกาลนี้ไว้ว่า
“Wonderfruit เป็นมากกว่างานเทศกาล แต่เป็น Platform ที่จะขยายการสร้างความตระหนักถึงวิธีแก้ปัญหาที่ชัดเจนของการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน และก่อผลกระทบเชิงบวกที่สำคัญต่อสังคมเรา”
การสนับสนุนด้านความยั่งยืนตลอดระยะเวลา 4 วันของเทศกาลมีหลากหลายประสบการณ์ เช่น ดนตรี ศิลปะ ครอบครัว การพูดคุย เวิร์กช้อป สุขภาพและอาหารสดใหม่ โดยในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เทศกาล Wonderfruit ได้กำหนดมาตรฐานใหม่ด้านสิ่งแวดล้อม และจิตสำนึกทางสังคมที่จะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกที่เพิ่มขึ้น ดังนี้
1. ผลักดันข้อจำกัดต่างๆ ด้วยสกุลเงินดิจิทัล
ในปีที่ผ่านมา Wonderfruit ได้ผสานความสนุกและการปลูกป่าทดแทนผ่านการจำหน่ายเครื่องดื่มพิเศษที่รู้จักแพร่หลายในนาม Mangrove Drinks ซึ่งยอดขายของแต่ละขวดจะส่งผลให้มีการปลูกต้นไม้หนึ่งต้นในสวน Thor Heyerdahl Climate Park ในประเทศเมียนมาร์ ที่ได้สูญเสียต้นโกงกางจากการตัดไม้ทำลายป่า
ต้นโกงกางแต่ละต้นจะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ได้มากถึง 1 ตันตลอดระยะเวลา 20 ปี และยังมีผลกระทบที่ดีหลายประการต่อชุมชนท้องถิ่น และความหลากหลายทางชีวภาพ
ในช่วงเทศกาลครั้งล่าสุด ได้ผลักดันสนับสุนการอนุรักษ์ป่าโกงกางในเมียนมาร์ พร้อมกับการนำสกุลเงินดิจิทัลชื่อ TREE มาใช้ โดย TREE แต่ละเหรียญมีค่าเท่ากับ 1 ดอลล่าร์สหรัฐสำหรับการเทรดบนแพลตฟอร์ม Lykke Exchange และค่าของเหรียญก็มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาล Wonderfruit เมื่อปีที่ผ่านมา ออแกไนเซอร์ยังได้เปิดโอกาสให้เหล่าศิลปินและซัพพลายเออร์ต่างๆ รับค่าตอบแทนในรูปแบบ TREE อีกด้วย โดยปณิธาน ได้กล่าวเสริมว่า
“เราได้กำหนดโรดแมพไว้แล้ว และตอนนี้เราได้เดินมาตามแผนที่วางไว้ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ท้าทาย และเรารู้สึกว่าผู้คนต่างให้การตอบรับดี นอกจากนี้ มันทำให้เราได้เรียนรู้หลายอย่างตลอดเวลา”
2. มุ่งเป้าเพื่อภารกิจปลอดก๊าซคาร์บอน
เครื่องดื่ม Mangrove ไม่เพียงแต่จะเพิ่มประสบการณ์การใช้งานสกุลเงินดิจิทัลให้กับผู้เข้าร่วมเทศกาลเท่านั้น แต่การริเริ่มแคมเปญนี้ยังช่วยให้ผู้จัดเทศกาล Wonderfruit บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมในการทำให้สภาพอากาศดีขึ้น โดย Wonderfruit ได้ลงทุนไปกับต้นไม้ใหม่จำนวน 10,000 ต้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเทศกาลครั้งนี้ปลอดก๊าซคาร์บอน ได้รับการสนับสนุนจากการขายเครื่องดื่มชนิดพิเศษนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ทางผู้จัดงานได้ชดเชยการปล่อยคาร์บอนในช่วงเทศกาลด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon credits) จากบริษัท อนุกรักษ์พลังงานซีเมนต์ไทย จำกัด เครือ SCG ปริมาณ 1,500 ตัน
3. กฎห้ามใช้พลาสติก
ผู้จัดงานได้ร่วมมือกับองค์กรนอกภาครัฐของสหรัฐฯ โดยกลุ่มความร่วมมือมลพิษทางพลาสติก (PPC) ในการลดจำนวนการใช้พลาสติกตลอดช่วงเทศกาล โดยการเรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมงานพกภาชนะสำหรับเครื่องดื่มที่ทำจากไม้ไผ่หรือสเตนเลส สตีล มาด้วยตนเอง
สำหรับเทศกาลครั้งนี้ Wonderfruit ยังจำหน่ายถ้วยสำหรับใส่เครื่องดื่มที่ทำจากสเตนเลส สตีล รุ่น Limited Edition ซึ่งผู้เข้าร่วมเทศกาลสามารถนำไปใช้เป็นส่วนลดในการเติมเครื่องดื่ม และลดทอนระยะเวลาในการรอคิว อีกทั้ง ร้านค้าต่างๆ จำเป็นต้องบริการอาหารในภาชนะบรรจุอาหารที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น จานที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย โดยถ้วยเครื่องดื่มที่ผลิตขึ้นครั้งนี้จะทำมาจากกระดาษชานอ้อย ซึ่งแตกต่างจากปีที่แล้วที่ผลิตขึ้นจากแผ่นชีวภาพซึ่งต้องใช้เวลานานในการย่อยสลาย
Dianna Cohen หัวหน้ากรรมการฝ่ายบริหาร PPC ได้กล่าวว่า “ไม่เพียงแต่เป็นการลดปริมาณ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการรีไซเคิลพลาสติกเท่านั้น แต่ยังเป็นการปฏิเสธการใช้พลาสติกเพื่อลดทอนซากขยะในมหาสมุทรได้อีกด้วย”
นอกจากนี้ เธอยังคงผลักดันการใช้ภาชนะทางเลือก เช่น ขวดที่ทำจากสเตนเลส สตีล และภาชนะที่เป็นแก้ว ซึ่งการใช้พลาสติกจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ที่มีผลต่อ IQ ลดลง และโรคสมาธิสั้น รวมถึงโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งสมองและมะเร็งต่อมลูกหมาก
4. ต้นไม้เพื่อขวดพลาสติก
เพื่อให้โครงการสัมฤทธิ์ผล ทาง Wonderfruit ได้เรียกร้องให้นักท่องเที่ยวหรือผู้เข้างานนำกระป๋องและขวดเปล่าใส่ลงไปใน Vending Machines ที่ตั้งอยู่หน้าทางเข้างาน โดยต้นไม้ 1 ต้นจะถูกปลูกเมื่อสามารถรวบรวมกระป๋องและขวดเปล่าได้ 3 กระป๋อง เป็นผลให้ผู้จัดงานสามารถปลูกต้นโกงกางจำนวน 3,500 ต้นในจังหวัดชลบุรี จากการเก็บรวบรวมขวดและกระป๋องเปล่านั่นเอง ถือเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จของเดือนนี้
นอกจากนี้ ทางผู้จัดได้ลดปริมาณของเสียจากอาหาร โดยการร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงผลประโยชน์ในท้องที่ ชื่อว่า Thai Scholars of Sustenace (SOS) ในการนำของเสียมาทำเป็นปุ๋ยผสมปริมาณเกือบ 400 กิโลกรัม
5. โครงสร้างที่ยั่งยืน
การก่อสร้างเวทีต่างๆ ในเทศกาลดนตรี Wonderfruit ได้รับการชมเชยอย่างกว้างขวางที่นำวัสดุที่ยั่งยืนมาใช้ และการนำเทคนิคการออกแบบที่ทันสมัยที่ไม่จำเป็นต้องใช้น็อตและสลักเกลียว ยกตัวอย่างเช่น เวที Solar Stage ได้รับการเปลี่ยนโฉมเมื่อปีที่ผ่านมา และถูกสร้างขึ้นมาจากไม้อัดที่เจาะรูไว้ ในขณะที เวที Living Stage เวทีแสดงของ Wild Beats, Yeasayer and Chronixx สร้างมาจากไม้ไผ่ และอีกหนึ่งเวทีที่เป็นเอกลักษณ์ได้เปลี่ยนโฉมเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นั่นก็คือ The Farm Stage ที่ถูกสร้างขึ้นจากข้าว โดยพื้นที่ของเวทีจะใช้สำหรับโปรแกรม Scratch Talks ในช่วงเวลากลางวัน และเป็นที่ฉายภาพยนตร์ในช่วงเย็น
ภายในงานยังมีโซนนิทรรศการ Interactive เรียกว่า Sustainability Pavillion ที่อธิบายถึงภารกิจของเทศกาล และยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้เข้าชมในการปฏิญาณตนต่อหน้าหินคำมั่น (Promise Stones) เพื่อผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม
“Wonderfruit เป็นเทศกาลที่แสดงให้เห็นว่า การมีชีวิตที่ยั่งยืน เป็นสิ่งที่ง่ายดาย สนุกสนาน ครั้งนี้ เราได้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน จากการรวมกลุ่มกันของคนจำนวนพันๆ คนที่มีจุดหมายเดียวกันจาก 4 ทวีป เพื่อสำรวจ ร่วมสนุก และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก” ปณิธาน กล่าวปิดท้าย
ที่มา…
-eco-business.com By Hannah Fernandez
-ภาพ Wonderfruit