การสร้างความแตกต่างด้วย Sustainability จะได้เปรียบในเชิงกลยุทธ์ เป็นสิ่งที่ “ผู้นำ” องค์กร บนเวทีเสวนา How to Future Proof Your Business in the Name of a Better World เห็นคล้ายกัน ซึ่งธุรกิจก็ชนะ สังคมก็พัฒนาดีขึ้น
ในงานเปิดตัวหนังสือ Thailand’s Sustainable Business Guide : How to Future Proof Your Business in the Name of a Better World ของมูลนิธิมั่นพัฒนา และภาคีหลักจากภาคธุรกิจ มีช่วงเสวนา How to Future Proof Your Business in the Name of a Better World
“ผู้นำ”ของ 4 องค์กรคือ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กฤป โรจนเสถียร ประธานและประธานบริหาร บริษัท ชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ รีสอร์ท จำกัด และศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ ประธานกรรมการ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง และการลงมือทำจริง และเห็นผลแล้วว่า “การสร้างความแตกต่าง ด้วยการใช้เรื่อง Sustainability จะทำให้เกิดข้อได้เปรียบในเชิงกลยุทธ์”
-ปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืน
ดร.วิรไท เริ่มเปิดประเด็นนี้
ปัญหามาจาก เรื่องทรัพยากรที่น้อยลงไป เรื่องความเหลื่อมล้ำซึ่งมีความชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำในสินทรัพย์ หรือความสามารถในการหารายได้ ความสามารถในการหาโอกาส และเรื่องใหม่ตอนนี้คือความเหลื่อมล้ำในความสามารถที่จะเข้าถึงเทคโนโลยี ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก อันนี้จะเป็นประเด็นที่สำคัญมาก และเรื่องความไม่แน่นอน ความผันผวนต่างๆที่เราต้องเผชิญ เรื่องของภัยธรรมชาติเป็นตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้เราจะเจอปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนในเรื่องนโยบายของประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ
ในศัพท์ทางด้านธุรกิจ เน้นในเรื่อง Maximization ในช่วงที่ผ่านมา แต่คอนเซ็ปต์สำคัญที่เป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐศาสตร์คือเรื่อง Optimization ในการคำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆ ว่าเราจะสามารถจัดสรรผลประโยชน์ภายใต้ข้อจัดสรรต่างๆ ได้อย่างไร และข้อจำกัดจะมองเฉพาะธุรกิจของตัวเองไม่ได้ แต่จะต้องมองระยะที่ไกลมากขึ้น และมองกว้างมากขึ้น
“เพราะฉะนั้น หนีไม่พ้นที่ธุรกิจจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง กติกา ของการทำธุรกิจ คนที่คิดไปก่อน ก้าวหน้าก่อน เขาจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรฐานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ถ้าเราตระหนักเรื่องนี้ ก็ต้องบริหารจัดการความเสี่ยง ก็จะกลายเป็นความได้เปรียบในเชิงกลยุทธ์”
-แรงจูงใจ หรือจุดเริ่มต้นให้มาสนใจของการพัฒนาอย่างยืน
รุ่งโรจน์ ยอมรับว่าองค์กร 100 ปีอย่างเอสซีจีได้มีวัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งสำคัญที่นำพามาถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นธรรม ความเป็นเลิศ และมาถึงเรื่องคน เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้องค์กรยั่งยืน สุดท้ายค่อนข้างตรงมากในเรื่องมีความรับผิดชอบต่อสังคม
“ผมคิดว่าตรงจุดนี้เป็นจุดที่เริ่มต้นว่า ในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อเริ่มทำไปเรื่อยๆ ก็ผ่าร้อนผ่านหนาวต่างๆ มาเยอะ ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 เราก็เอาเรื่อง บรรษัทภิบาลเป็นเรื่องที่เราเอาเข้ามาใส่ เราไปร่วมกับ World Business Council 17-18 ปีที่แล้ว ซึ่งมีปรัชญาเรื่องความยั่งยืนเหมือนกันทำธุรกิจก็ทำดีได้พร้อมกัน เมื่อ 10 กว่าปี เราก็ไปร่วม DJSI ช่วยทำให้เราสามารถที่จะนำแนวคิด เทคโนโลยีของคนอื่นๆ มาเทียบกับเราได้ ช่วยผลักดันให้เราสามารถจะตอบโจทย์ ซึ่งนับวันมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาคธุรกิจเอง หรือภาคสังคม ภาคลูกค้า ผมคิดว่าตรงนี้คือวัตถุประสงค์และแรงบันดาลใจของเราที่จะพัฒนาธุรกิจของเราให้เติบโตไปได้อย่างยั่งยืน และที่สำคัญที่สุดคคือเรื่องวัฒนธรรมองค์กร”
กฤบ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ชีวาศรมเป็นธุรกิจ Wellness สร้างสุตภาพที่ดีให้ลูกค้า เราเชื่อว่าเป็นตรรกะที่จะส่งมอบสุขภาพที่ดีให้กับ Stakeholder ของเราด้วย เป็นต้นว่า ลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน นอกจากนั้นกระจายไปสู่ชุมชนรอบตัว เพราะเราเชื่อว่า Wellness เมื่อส่งมอบให้กับทุกคนแล้ว สิ่งแวดล้อมจะไม่มี Wellness ย่อมเป็นไปไม่ได้ สังคมรอบๆ ตัวก็เช่นกัน
“เพราะฉะนั้นตั้งแต่ก่อตั้ง เรื่อง Sustainability อยู่ใน DNA ของชีวาศรม ชีวาศรมมีระบบกำจัดน้ำเสีย 100% ตั้งแต่ก่อตั้ง ไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกสู่ภายนอก ระบบพลังงานแสงอาทิตย์เริ่มใช้มาได้ 12 ปี เป็นการมองหาพลังงานทดแทน ซึ่งปัจจุบันหร่อยหรอลงไปทุกที สร้างมลภาวะ หากปล่อยให้พึ่งพาพลังงานแบบเดิอมต่อไปธุรกิจก็ไม่ยั่งยืน”
ถือเป็นที่มาของ Sustainability Policy & Initiative สิ่งต่างๆ ของชีวาศรม ที่จะดำเนินต่อไป
ศ.น.พ.เทพ เล่าถึงโรงพยาบาลเทพธารินทร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเบาหวาน และให้การดูแลแบบรอบด้าน จุดเรื่องต้นที่สนใจความยั่งยืน มาจากจุดวิกฤตเรื่องโรคที่ผมเชี่ยวชาญคือ โรคเบาหวาน เพราะได้เห็นโรคแทรกซ้อนต่างๆ เกิดขึ้น โดยไม่สามารถช่วยเหลืออะไรคนไข้ได้ในโรงพยบาลที่ทำงานอยู่คือโรงพยาบ่าลรัฐบาล และคิดว่าสิ่งที่ต้องการคือ สาขาชีพที่จะสามารถช่วยคนไข้ให้เกิดความรู้ และเกิดเป็น Health Effeciency เกิดขึ้น ซึ่งประเทศไทยไม่ได้คิเรื่องนี้เลย และประชาชน คนไข้ก็ไม่รู้จัก
เพราะฉะนั้นพูดง่ายๆคือ อยากจะสร้าง และยกระดับการดูแลโรคเบาหวานให้ดีขึ้น โดยต้องสร้างบุคลากร 3 ชนิด คือคนที่เราเอามาให้สอนคนไข้ให้รู้จักวิธีดูแลตัวเอง
สร้างผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาหารเกี่ยวกับโรคแทรกซ้อนต่างๆของโรคเบาหวาน และป้องกันโรคเบาหวาน สร้างผู้เชี่ยวชาญเรื่องเท้า ซึ่งได้มูลนิธิเบาหวานโรคมาช่วย และเราฝึกอบรม ภายใน 4 ปีคาดการณ์จะลดการตัดขา 40% แต่ทำได้จริง ลดไป 80% ที่ได้ทุนมามาจัดการเรื่องเท้า
“จนกระทั่ง 33 ปีที่เราก่อตั้งโรงพยาบาล ซึ่งเราก็ดูต่อไปจะทำอย่างไรที่จะป้องกันแบบโรคเบาหวานได้เลย อันนั้นก็คือโรคอ้วน เป็นปัญหาใหญ่มาก ดูเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่เราก็ดูในโรงพยาบาล ต่อไปจะเป้นเรื่องผู้สูงอายุที่เป็นปัญหาของสังคม”
-ต้องการเป็นองค์กรยั่งยืนต้องมีการลงทุน
กฤบ ไม่ปฏิเสธเรื่องการต้องลงทุนดังที่กล่าวช่วงแรก เช่นการบำบัดน้ำเสีย Bottom Line คือไม่ใช่บำบัดน้ำเสียอย่างเดียว แต่เรานำกลับมาใช้ใหม่ เป็นการ Reuse เพราะฉะนั้นในปริมาณน้ำเดียวกันเราใช้ 2 ครั้ง เท่ากับว่าเราประหยัดไปเท่าตัว เท่าที่ประมาณได้คือ 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ราคาปัจจุบัน 1,400 กว่าบาท ตกปีละประมาณ 5 แสนกว่าบาท ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียเมื่อ 23 ปีที่แล้ว การคืนทุนเรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ถ้าผมจำไม่ผิดภายใน 6 ปี
พลังงานแสงแดด 12 ปีที่ตั้งไป ประหยัดก๊าซหุงต้มได้ 50 % พลังไฟฟ้าที่จะใช้เรื่องการรักษาความร้อน หลังจากที่หุงต้มแล้ว ก็ลดอีกประมาณ 20 % ซึ่งก็คุ้มทุนแล้วภายใน 6 ปี และล่าสุดเมื่อช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนระบบทำความเย็นของทั้งรีสอร์ต จากแอร์คูลเป็นวอเตอร์คูล เปลี่ยนหลอดไฟเป็นแอลอีดีทั้งหมดตามคำแนะนำ ปรากฏว่าได้ประหยัดได้ 26 % อย่างที่บริษัทที่ปรึกษาการันตี ตอนนี้การคืนทุนที่เกิดขึ้นก็น่าจะได้หมดแล้ว
“ในหน้า 202 ของหนังสือเล่มนี้ ระบุไว้ว่า การสำรองของประเทศไทยในเรื่องก๊าซธรรมชาติของไทยจะหมดไปใน 10 ปี ควรไหมครับที่เราจะมามองไปข้างหน้าและแสวงหาพลังงานทดแทน เพราะการที่เราจะพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศคงไม่ได้มากนัก ต้องทำให้อนาคตปลอดภัยมากกว่านี้”
รุ่งโรจน์ แสดงความเห็นเรื่อง SD เป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องมี Commitment เท่าๆ กับทุกเรื่อง ยกตัวอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม ชุมชน กฎเหล็กข้อหนึ่งที่เราใช้ในบริษัทของเราคือ เรื่องพวกนี้ การลงทุนในเรื่องพวกนี้เราจะไมใ่หวังผลตอบแทน เพราะเรามองว่าเรื่องของกำไรในการลงทุนเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่พ้นของบริษัทที่ต้องมีกำไร แต่เราก็มองว่ามีบางเรื่องเป็นคล้ายๆ ส่วนหนึ่งของเรา เรื่องของสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของพนักงาน ของคู่ธุรกิจ เป็นเรื่องที่เราต้องคิดว่าเราต้องผ่านจุดตรงนี้ไปให้ได้ ถ้าเรามัวแต่ไปดูว่า เราต้องใช้เวลา 5 ปี 10 ปี 20 ปี ในการจะให้ผลตอบแทนตรงนี้ เราจะไม่สามารที่จะผ่านจุดนี้ๆไปได้เลย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เราถือว่าก่อนจะลงทุน โรงงานจะต้องมีระบบเรื่องการดูแลความปลอดภัย ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า พนักงานทุกคนที่เมื่อเดินมาทำงานแล้ว จะเดินกลับบ้านได้อย่างมีความเชื่อว่าปลอดภัย
เรื่องของของเสียที่ออกจากโรงงานจะต้องมีความมมั่นใจว่าตรงนี้ไม่มีทางออก และข้อผิดพลาดแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ เพราะว่าถ้ายอมผิดพลาดเรื่องเล็กน้อย หมายความว่าตรงนี้เราไม่ได้ให้ความสำคัญ
“ผมคิดว่าตัวอย่างเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญของทุกองค์กรที่อยากจะเอาเรื่อง SD ตรงนี้มาใช้ เพราะถ้าไม่ได้เริ่มจากที่องค์กรมี Commitment เรื่องพวกนี้ก่อน พนักงานไม่ Turst ผมคิดว่าเราไม่สามารถจะเป็นองค์กรที่มีจิตวิญญาณ SD ได้จริงๆ”
ดร.วิรไท Core value ขององค์กรเป็นเรื่องสำคัญมาก ธนาคารแห่งประเทศไทยยึดมั่นเรื่อง การยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน และสิ่งสำคัญที่สุด ทรัพย์สินสำคัญที่สุดคือ บุคลากร ความน่าเชื่อถือขององค์กรมาจากบุคลากร จึงต้องให้บุคลากรยึดมั่นค่านิยมหลักของเรา ในการยืนตรง เราไม่รับความเสี่ยงไม่ว่ากรณีใดๆ ถ้าเกิดมีผู้บริหารหรือพนักงานไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนตัวมาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ เราให้ความสำคัญต่อการสร้างมาตรฐานเรื่องนี้มาก หากพบว่ามีการกระทำผิด จะมีโทษรุนแรงมาก
“เรื่องการมองไกล สำคัญเรามีบทบาทในการวางนโยบาย ชี้นำสังคม เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจว่า เราต้องเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง วิธีการทำงานของเราเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง จอเรดาร์ของเราเท่ากันกับการเปลี่ยนแปลง เรามีฐานข้อมูลที่ดี คนมีความรู้ ในที่ที่เหมาะสม อย่างการแก้ปัญหาการเหลื่อมล้ำทางการเงิน โดยส่งเสริมคนตัวเล็กตัวน้อยให้เข้าถึงการบริการทางการเงินอย่างเป็นธรรมในที่นี้หมายถึงว่า ด้วยราคาที่เป็นธรรม และได้รับการคุ้มครองที่เป็นธรรมอันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เช่นการที่เราทำระบบพร้อมเพย์”
อีกเรื่องคือ Financial Literacy ทักษะการบริหารจัดการการเงินของคนไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ก็ไม่มีใครทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ความยั่งยืนของทุกครัวเรือนขึ้นอยู่กับความมั่นคงทางการเงิน เหล่านี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราทำในช่วงที่ผ่านมา
-ทำอย่างไรให้คนในองค์กรร่วมมือด้วย
ศ.น.พ.เทพ อธิบายถึงวัฒนธรรมองค์กรคือเรื่อง Ethic และพนักงาน 400 คน ปฏิบัติตัวตามคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งผลที่ออกมาชัดเจน เช่นตอนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง โรงพยาบาลมีทางให้เลือก 2 ทางคือ จ้างพนักงานออก และยอมลดเงินเดือน ซึ่งทุกคนเลือกอย่างหลัง พร้อมใช้วิถีเศรษฐกิจพอเพียง จึงกลายเป็นองค์กรความสุข และบุคลากรของโรงพยาบาลก็สามารถที่จะใช้ประโยชน์จากสระว่ายน้ำ ห้องพระ ฟิตเนสได้เช่นลูกค้า ดังนั้นคนในองค์กรจึงมีความเข้าใจในเรื่องความยั่งยืน
กฤบ กล่าวถึงการที่พนักงานยอมรับในเรื่องนี้ เพราะถือเป็น DNA ของชีวาศรมในเรื่อง Wellness ซึ่งเกี่ยวโยงถึงลูกค้า สิ่งแวดล้อม ชุมชน เมื่อสร้างภายในแล้ว กับภายนอกองค์กร ชีวาศรมใช้โมเดลตั้งชมรมพิทักษ์ หัวหิน ทำงานร่วมกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เทศบาลหัวหิน การท่องเที่ยว สถาบันการศึกษา สร้างป่าโกงกาง เขาไกรลาส ซึ่งอยู่กลางเมืองหัวหิน ในเวลาต่อมาก็เกิดป่าโกงกาง 18 ไร่ กลางเมือง สร้างให้เกิดระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวของชุมชน และนักท่องเที่ยว พร้อมปลูกฝังเรื่องนี้กับเด็กๆ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดยุวทูตพิทักษ์หัวหินในเวลาต่อมา
รุ่งโรจน์ เรื่องของ SD มีข้อดีอย่างหนึ่งคือ สามารถทำให้องค์กรก้าวหน้าไปด้วย นวัตกรรมเป็นเรื่องที่สำคัญ การที่ทำ SD เป็นการที่เราจะ Engage กับการพัฒนาเรื่องของนวัตกรรม เช่นความปลอดภัย ปัจจุบันเรามีคอนดักเตอร์ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการขนส่งของเรา มีรถอยู่เป็นหลายหมื่นคัน เรื่องของความปลอดภัย เรื่องการขับขี่ อุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก สุดท้ายอย่างเรื่องการขับเร็วกว่าที่กำหนด ก็กดดันเราให้เอาเทคโนโลยีในเรื่องจีพีเอสมาช่วยว่าบริเวณนี้ขับเร็วเกินไปไหม ถ้าขับเร็วก็จะมีเสียงเตือน ตรงนี้ขับเร็วนะ ตรงนี้กลับรถบริเวณที่เราไม่อยากให้กลับ เพราะพื้นที่ในการกลับรถมีน้อย และเมื่อกลับรถปุบอาจจะเกิดปัญหาว่ารถที่ขับมาตามหลังจะชนเอาได้
“ถือเป็น Engaement ที่ดีมากๆ ในการที่เราทำธุรกิจตรงนี้ กับตัวพนักงานของเราเอง ได้ทั้งความสนุกและความสบายใจที่มีความรู้สึกว่า เราเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่เอาเรื่องนี้มาใช้ และมีการเจริญเติบโตก้าวหน้าทั้งองค์กรอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้ ก็เป็นความภูมใจอย่างหนึ่งของเรื่องนี้”
ดร.วิรไท ในช่วงที่ผ่านมาเราก็สร้างกิจกรรมหลายอย่างที่จะทำให้พนักงานปรับพฤติกรรม เปลี่ยนพฤติกรรม ก็จะทำให้เกิดการเปิดใจมากขึ้น คล่องตัวทันการณ์มากขึ้น ซึ่งอันนี้ผมว่ามุ่งความสำเร็จ เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เราทำหน้าที่ธนาคารกลาง ได้อย่างยั่งยืน เท่ากันกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น
เรื่อง Sustainability เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และผมคิดว่าทุกคน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาคเอกชน ภาครัฐ เราจะต้องเริ่มจากที่เรามองไกล และมองกว้าง มองความเชื่อมโยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เรื่องการตระหนักรู้ ถึงผลข้างเคียงต่างๆ ที่เราอาจะทำโดยไม่ตั้งใจ และเกิดผลต่อโลกใบนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญนะครับ
ท่านวิทยากรหลายท่าน จะพูดคล้ายกันในประเด็นหนึ่งที่ว่า การที่ทำให้เกิดความยั่งยืน จะเป็นการช่วยไม่ให้เกิดความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ และการสร้างความแตกต่าง ด้วยการใช้เรื่องความยั่งยืน จะทำให้เกิดข้อได้เปรียบในเชิงกลยุทธ์ด้วย อันนั้นเป็นเรื่องสำคัญ
“ถ้าจะขอปิด ชอบคำที่อยู่หน้าปกหนังสือ How to Future Proof Your Business in the Name of a Better World แสดงให้เห็นว่า การทำ Sustainability เป็น Win Win ไม่ใช่เราทำในลักษณะที่เป็นการเสียสละ แต่ธุรกิจที่ทำเรื่อง Sustainability จะได้ประโยชน์คือ Future Proof the Business และทำให้โลกดีขึ้นด้วย ง่ายๆ คือ ธุรกิจก็ชนะ สังคมก็พัฒนาดีขึ้น”
ข่าวเกี่ยวข้อง
–3 คำนี้ อย่ามองบน! Strategic Risk, Sustainable, License to Grow