การเดินทางของขยะพลาสติก กำลังเปลี่ยนไป !

พลาสติก 8.3 พันล้านตันหนักขนาดไหน? ถ้า 331,000 ตันเท่ากับตึกเอ็มไพร์สเตท 25,000 หลัง ถ้า 7.5 ตันเท่ากับช้าง 1 พันล้านเชือก ม.จอร์เจียกล่าวไว้ และชี้ว่าในปี 2593 โลกจะมีขยะพลาสติกเพิ่มเป็น 12,000 ล้านตัน ส่วนในทะเลไทยพบมากสุดคือ ถุงพลาสติก , หลอดน้ำ , ฝาพลาสติก

ประเทศไทยมีขยะพลาสติกที่ทิ้งลงสู่มหาสมุทรมากติด 10 อันดับแรกของโลก เหตุผลหนึ่งมาจากขยะถูกจัดการได้อย่างเหมาะสมเพียง 40% แต่ที่เหลือจะเป็นขยะพลาสติกกองทิ้งไว้ของชุมชน และมักจะถูกพัดพาลงสู่มหาสมุทรในอันดับสุดท้ายตาม

แม้ว่าขยะพลาสติกจะเป็นวิกฤตหนึ่งด้านสิ่งแวดล้อม แต่ด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี พลิกวิกฤติให้เป็นทรัพยากรขยะพลาสติกด้วย Circular Economy ส่งผลให้ การเดินทางของขยะทะเลกำลังเปลี่ยนไป

 

Waste Side Story by PTTGCพาวิลเลียนจากพลาสติกรีไซเคิลณลานหน้าอาคารไปรษณีย์กลาง

พาวิลเลียน สีแดง-ขาวตั้งโดดเด่นอยู่หน้าไปรษณีย์กลาง บางรัก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2561” จัดโดย ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ถ้าจะบอกว่าโครงสร้างทั้งหมดของพาวิลเลียนแห่งนี้ทำมาจากขยะพลาสติกรีไซเคิล อาจจะไม่มีใครเชื่อ

ณัฐพงษ์ พัฒนโกศัล และดลพร ชนะชัย ผู้ออกแบบพาวิลเลี่ยน

 

พาวิลเลี่ยนจากขยะพลาสติก

ณัฐพงษ์ พัฒนโกศัล และดลพร ชนะชัย เป็น 2 นักออกแบบจากบริษัท Cloud-Floor เล่าแนวคิดการออกแบบพาวิลเลียนแห่งนี้ ว่า

“ เรานำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาทำในรูปแบบสถาปัตยกรรม โดยใช้เม็ดพลาสติกเป็นส่วนประกอบ 10 %แล้วนำมาขึ้นรูปใหม่ให้เป็นยูนิต หรืออิฐบล็อก ออกแบบเรียงกันเป็นผนัง และยังสามารถต่อยอดบล็อกนี้ไปทำเก้าอี้เฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งมุ้งลวดสีขาวนี้นำไปเป็นวัตถุดิบตัดเย็บเป็นกระเป๋าได้ด้วย”

Mold หรือชิ้นส่วนพลาสติกที่ทำขึ้นมีทั้งหมด 5 แบบ มีจำนวน 4,388 ชิ้น เมื่อนำมาต่อกันบนโครงเหล็กจะกลายเป็นพาวิลเลี่ยนที่มีขนาด 180 ตร.ม. สูง 4.5 ม. และหลังจากจบงานนี้สามารถรื้อถอนและนำไปก่อสร้างพาวิลเลี่ยนใหม่ที่ปรับขนาดได้ตามต้องการ แทนการใช้โครงไม้แบบเดิม ๆ

พาวิลเลี่ยนขนาดใหญ่ที่ใช้บล็อกจำนวน 4,388 ชิ้น ที่ทำจากขยะพลาสติก

พาวิลเลี่ยนใช้ชื่อแนวคิดว่า“Waste Side Story by PTTGC”จัดทำโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เพื่อเปิดมุมมองใหม่ให้กับพลาสติกด้วยนวัตกรรมใหม่ในการออกแบบเพื่อสร้างมูลค่าและสร้างแรงบันดาลใจให้มนุษย์ร่วมกันคิดและต่อยอดอย่างไร้ขีดจำกัดในอนาคต ดังนั้นภายในพาวิลเลี่ยนแห่งนี้จึงเป็นที่แสดงผลงานแห่งจินตนาการที่ล้วนรังสรรค์จากพลาสติกทั้งสิ้น

 

Contemporary Jewelry

Contemporary Jewelry เป็นผลงานที่ อาภาวรรณ กุลตวนิช แห่งAPAWAN STUDIO นำมาแสดงในงานนี้ ด้วยแนวคิด “ คุณค่าของเครื่องประดับไม่ได้จำกัดอยู่ที่มูลค่าของวัสดุที่นำมาใช้เพียงเท่านั้น”

 

อาภาวรรณ กุลตวนิช กำลังโชว์สร้อยที่ทำจากหลอดพลาสติก สามารถขายได้ในราคา 3,000 บาท

ด้วยสายตาของความเป็นอาร์ตดีไซน์ อาภาวรรณ กลับมองเห็นความงดงามของหลอดพลาสติกที่ไม่มีคุณค่า วงกลม ๆ ที่แสงสามารถทะลุผ่าน เมื่อนำมารวมกันเป็นกลุ่มก้อน ใช้ความร้อนเป็นตัวสร้างรูปทรงโปร่งใสตามธรรมชาติ ทุกชิ้นงานจึงมีเอกลักษณ์ความงามเฉพาะตัว  เมื่อใส่รายละเอียดลงไป หลอดโปร่งใสก็จะกลายเป็นเครื่องประดับแนว Contemporary Jewelry ที่สวยงามได้หลากหลาย

เครื่องประดับที่มาจากหลอดนี้ สามารถแปลงโฉมเป็นทั้งแหวน สร้อยคอ เข็มกลัด ต้มหูได้ในราคาเทียบเท่ากับเครื่องประดับชิ้นหรูทีเดียว

Contemporary Jewelry เครื่องประดับแนวอาร์ตที่ทำจากหลอดพลาสติก

 

ชุดเจ้าสาวพลาสติก

เมื่อ 2 นักออกแบบสิ่งทอและแฟชั่นอย่าง จารุพัชร อาชวะสมิต และประภากาศ อังศุสิงห์ เจ้าของผลงานชุด “เมฆขลาล่อแก้ว” ซึ่งชนะเลิศชุดมิสยูนิเวอร์ไทย พวกเขาได้จับมือกัน รังสรรค์ผ้าสีขาวที่ทอจากพลาสติกให้กลายเป็นชุดแฟชั่นที่สวยงามโดดเด่น

คงไม่มีใครคิดว่าพลาสติกจะนำมาทอเป็นผ้าโปร่งใส เบาบาง และสามารถรูดระบายเป็นชุดเดรสมีเลเยอร์เป็นชั้น ๆ ที่ทำให้ผู้สวมใส่กลายเป็นเจ้าสาวที่สวยสง่าที่เบื้องหลังคือผ้าที่ทอจากcotton ผสมกับพลาสติกรีไซเคิล 40 %

ชุดเจ้าสาวทำจากผ้าทอ Cotton ผสมพลาสคิก เป็นผ้าโปร่งบาง

 

Fly Now เสื้อผ้าเพื่อคนรักสิ่งแวดล้อม

“ เราทำแฟชั่นชุดนี้ขึ้นมาไม่ได้ตั้งใจขายเฉพาะกลุ่มคนที่รักสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่อยากขายให้กับคนทั่วไป อยากให้คนรักแฟชั่นหันมาสนใจเรื่อง Reused หรือการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ”

นั่นคือความตั้งใจของ 2 หนุ่มสาวดีไซเนอร์จากห้องเสื้อ Fly Now ในการออกแบบชุด Cocktail Dress สีสดใสที่ผืนผ้าผสมพลาสติก 40 % โดดเด่นด้วยลายพิมพ์ที่ใช้เทคนิครูปถ่ายจากพลาสติกรีไซเคิล เช่นฝาขวด ถ้วยพลาสติก มาพริ้นท์ลงเป็นลายผ้า

คุณสมบัติของผ้าชนิดนี้สวมใส่เบาสบายเหมือนคุณสมบัติผ้า cotton ระบายอากาศได้ดี และสามารถซักในเครื่องซักผ้าได้

 

2 ดีไซเนอร์แห่งห้องเสื้อ Fly Now

 

เสื้อผ้าจากขยะพลาสติกใต้ทะเล

ภายใต้ โครงการ Upcycling the Ocean Thailand คอลเลคชั่นจากขยะพลาสติกโพลิเอทิลีน ( PE)ในท้องทะเลไทยโดยการออกแบบของ Ecoalf จากสเปน ก็กลายมาเป็นเสื้อผ้าและแฟชั่นที่มีมูลค่าสูงขึ้น ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ( Circular Economy) โดยคอลเลคชั่นนี้ทำมาจากขยะใต้ทะเลและชายฝั่งเกาะเสม็ด

 

เสื้อผ้าเหล่านี้ทำจากขยะพลาสติกใต้ทะเลและชายฝั่งเกาะเสม็ด

เร็วๆ นี้ก็อาจจะต้องเลือกซื้อเสื้อผ้าเครื่องประดับจากขยะพลาสติก  ซึ่งมีดีไซน์ไม่ธรรมดา แถมมีนวัตกรรม ซึ่งไม่เพียงเป็นจะเป็น Story เวลาอธิบายเสื้อผ้าของประดับเท่านั้น แต่ก็ได้ลงมือทำเพื่อเป้าหมายสุดท้าย Circular Economy

ข่าวเกี่ยวข้อง

หมายเหตุ

“เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2561”หรือ Bangkok Design Week 2018จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “The New-istVibes…ออกแบบไปข้างหน้า”ตั้งแต่วันนี้–4 กุมภาพันธ์ 2561ซึ่งเต็มไปด้วยกิจกรรมไฮไลท์ต่างๆ มากมาย อาทิ
– “Waste Side Story by PTTGC”พาวิลเลียนจากพลาสติกรีไซเคิลณลานหน้าอาคารไปรษณีย์กลาง
– “Floating Park”ต้นแบบสวนสาธารณะลอยน้ำครั้งแรกของไทย ณ ท่าเรื อ CAT ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
– “เทศกาลปล่อยแสง”“ลานปล่อยแสง”และ “ตลาดปล่อยแสง”ผลงานการออกแบบ การจำหน่ายสินค้า และกิจกรรมการแสดงฝีมือนักเรียน นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ ลานใบไม้ ยิบอินซอย
– “International Exhibition”นิทรรศการแสดงผลงานออกแบบนานาชาติที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนในด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบจาก 5 ประเทศ ได้แก่ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน
– “สยามดีไซน์ไซต์”การจัดแสดงผลงานศิลปะ (Art Installation) นิทรรศการและกิจกรรมสร้างสรรค์ ณ สยามเซ็นเตอร์สยามดิสคัฟเวอรี่ และสยามพารากอน
– “ครีเอทีฟมาร์เก็ต” ตลาดนัดที่รวบรวมสินค้า อาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตด้วยไอเดียความคิดสร้างสรรค์

อ้างอิงข้อมูลบางส่วน

-บีบีซี ไทย

Stay Connected
Latest News