LoRaWAN ถือเป็น IoT(Internet of Things) ได้นำไปต่อยอดใช้ประโยชน์พัฒนาสังคมและประเทศในมิติต่างๆ โดยผู้เข้าแข่งขันทุกทีมได้รับทราบและทำความเข้าใจปัญหาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ดร.ณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) ได้คาดการณ์ว่าภายใน 5 ปีจะเกิดอุปกรณ์ IoT บนโลกเพิ่มขึ้นหลายหมื่นล้านอุปกรณ์ สำหรับประเทศไทยปัจจุบันทุกภาคส่วนกำลังให้ความสนใจและมีแนวโน้มการใช้งาน IoT มากขึ้น จำเป็นต้องสร้างโครงข่ายสื่อสารใหม่คือ LoRaWan เพื่อจะรองรับให้อุปกรณ์ IoT จำนวนมหาศาลนี้เชื่อมโยงส่งข้อมูลสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกันCAT ยังมุ่งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาIoTในกลุ่มคนไทยรุ่นใหม่มากขึ้น โดยส่งเสริมโอกาสให้เด็กไทยได้พัฒนาความรู้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านอุปกรณ์IoT และได้นำไปต่อยอดใช้ประโยชน์พัฒนาสังคมและประเทศชาติในมิติต่างๆ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมและนำประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4.0 อย่างยั่งยืน
ล่าสุด CAT จึงได้ร่วมกับ สมาคมสมองกลฝังตัวไทย (Thai Embedded Systems Association: TESA) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (วิทยาเขตปราจีนบุรี) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่) จัดโครงการ TESA Top Gun Rally ครั้งที่ 12 ณ ค่ายเยาวชนสุรัสวดี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อต้นเดือนนี้ เพื่อเป็นเวทีประชันทักษะด้านสมองกลฝังตัวภายใต้หัวข้อ ระบบอัจฉริยะสำหรับอุทยานแห่งชาติ 4.0 (Smart National Park 4.0)โดยมีนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ ได้เข้าแข่งขันสร้างสรรค์ระบบปฏิบัติการอย่างเข้มข้นรวมกว่า 200 คน จำนวน 40 ทีม
ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผู้เข้าแข่งขันทุกทีม ได้รับทราบและทำความเข้าใจปัญหาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระดมสมอง Workshopต่างๆ มีการประยุกต์องค์ความรู้ด้านสมองกลฝังตัวบวกกับการใช้ทักษะความคิดสร้างสรรค์ระบบปฏิบัติการ เพื่อสร้างเป็นต้นแบบสมองกล Universal National Park Box (UNPBox) หรือกล่องอเนกประสงค์ที่สามารถทำงานได้หลากหลาย แก้ปัญหาการบริหารจัดการของอุทยานแห่งชาติและตอบโจทย์ในสภาพแวดล้อมการทำงานจริงของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ
พีรวัส พิพัฒนกุลชัย ตัวแทนจากทีม Hookworm จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกล่าวถึงผลงานนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ว่า
“อุปกรณ์ระบบแจ้งเตือนอัจฉริยะสำหรับอุทยานแห่งชาติฯของทีมHookwormออกแบบเป็นอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ภายในมีเซ็นเซอร์ตรวจจับแรงสั่นสะเทือนอุณหภูมิ จับความเคลื่อนไหว ทำงานเชื่อมต่อกับ LoRaWAN ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายระยะไกลที่ใช้พลังงานต่ำ โดยตัวเซ็นเซอร์จะส่งข้อมูลไปยังตัวรับสัญญาณที่ติดตั้งอยู่ในสำนักงานของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อการแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ได้รับรู้ความผิดปกติอย่างรวดเร็ว และเดินทางมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ทันที เช่น แผ่นดินถล่ม, ต้นไม้ล้ม, เกิดไฟป่า หรือ เมื่อมีสัตว์ป่าเข้ามาในพื้นที่ที่อาจเกิดเหตุอันตรายต่างๆ เช่น ช้างเดินข้ามถนน เป็นต้น ซึ่งทีมของเราตั้งใจจะนำไปต่อยอดให้ใช้งานได้จริงเพื่อใช้งานในการอนุรักษ์ผืนป่าและดูแลสัตว์ป่าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้ต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
ดร.ณัฏฐวิทย์ สรุปถึงผลของโครงการนี้ว่า มั่นใจในความสามารถของเยาวชนรุ่นใหม่ว่ามีความพร้อมทั้งทักษะด้านสมองกลและสามารถเรียนรู้การทำงานบน LoRaWAN เทคโนโลยีโครงข่ายที่ทันสมัย