จินตนาการ & สมาธิเด็กน้อย เกิดได้จากการอ่าน

ถือเป็นหนึ่งในภาระกิจของมูลธิเอสซีจี ที่จะเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการเสริมสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกด้วย

ทั้งนี้ มูลนิธิฯ ได้เลือก “หนังสือภาพ” เพราะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ง่าย ประหยัด และทรงพลังที่สุด จะช่วยปลูกฝังให้เด็กไทยรักการอ่าน เมื่อพ่อแม่ลูกน้อยอ่านหนังสือภาพด้วยกัน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ

1.เพียงพ่อแม่ผู้ปกครองอ่านหนังสือภาพให้ลูกน้อยฟังวันละ 10 – 15 นาที จะทำให้พ่อแม่ และลูกน้อย ได้ใช้เวลาพิเศษร่วมกัน
2.น้ำเสียงจากการเล่านิทานและการกอดรัดที่อบอุ่นของพ่อแม่จะทำให้ลูกน้อยจดจำ ซึมซับ เรียนรู้สำเนียง ภาษา ข้อคิด คุณธรรม จริยธรรมตั้งแต่พวกเขายังเล็ก ทำให้เกิดเป็นช่วงเวลาคุณภาพของครอบครัวได้
3.ขณะที่ลูกน้อยกวาดตามองภาพจากหนังสือภาพนั้น จะทำให้พวกเขาจดจ้อง เกิดจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และมีสมาธิที่ยาวนานขึ้น
4.ช่วยก่อให้เกิดเป็นความทรงจำในวัยเด็กที่งดงาม หยั่งรากลึกในใจลูกน้อย
5.เด็กน้อยที่เคยรู้สึกปิติยินดีกับหนังสือในวัยนี้จะรักและผูกพันกับการอ่านจนชั่วชีวิต ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันอย่างดีไม่ให้เด็กติดเกม ติดเพื่อน หรือลุ่มหลงไปกับสิ่งยั่วยุต่างๆ เมื่อโตขึ้น

นับเป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกด้วย

**การเลือกหนังสือภาพให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย

วัยแรกเกิด-3 ขวบ
หนังสือภาพสำหรับเด็กวัยทารก ไม่ใช่หนังสือสำหรับอ่าน แต่เด็กจะสนใจหนังสือภาพเหมือนเป็นของเล่นชิ้นหนึ่ง เด็กจะเห็นหนังสือภาพเป็นของสี่เหลี่ยมที่มีภาพติดอยู่ และเปิดได้ จึงรู้สึกสนุกกับการค้นพบสิ่งที่น่าสนใจ เช่น ถ้าเปิดหน้าไหนแล้วพบภาพสิ่งที่เด็กรู้จัก เช่น แมว สุนัข รถ กล้วย ส้ม เด็กจะยิ่งสนใจมาก และส่งเสียงร้อง “บื๋อ บื๋อ” เมื่อเห็นภาพรถ เลียนเสียงเห่า “บ๊อก บ๊อก” เมื่อเห็นภาพสุนัข และจะใช้นิ้วจิ้มภาพเหล่านั้นด้วยความดีใจ

ดังนั้นหนังสือภาพที่เหมาะสมกับเด็กวัยนี้ควรเป็นหนังสือภาพที่มีรูปสัตว์ ผัก ผลไม้ รถชนิดต่างๆ สิ่งของในชีวิตประจำวัน ภาพเหล่านี้ควรเป็นภาพเหมือนจริง วาดโดยศิลปินฝีมือดี มีความสวยงาม ดูแล้วรู้สึกประทับใจ ไม่ควรเป็นภาพนามธรรม หรือภาพสีลูกกวาดที่ไม่มีความหมาย และไม่ควรมีฉากหลัง หรือส่วนประกอบภาพที่รก

วัย 2-3 ขวบ
เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัย 2 ขวบ แต่ละคนจะเริ่มมีความชอบแตกต่างกันแล้วแต่สภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ดังนั้นควรเลือกหนังสือที่เด็กสนใจ ไม่บังคับให้เด็กดูแต่หนังสือภาพที่พ่อแม่ต้องการให้อ่าน เพราะหนังสือภาพไม่ใช่ตำราเรียน แต่มันคือความสุขของลูก

เด็กวัยนี้มีประสาทสัมผัสทางหูที่ดีมาก หากมีประสบการณ์ด้านภาษา และเสียงที่ดี เด็กจะพัฒนาศักยภาพทางภาษา และดนตรีได้ดี โดยเฉพาะในช่วงวัย 2-4 ขวบ เด็กจะสนใจฟังเสียงและภาษาที่มีจังหวะ ซึ่งเด็กจะจำได้อย่างน่าอัศจรรย์
สำหรับเด็กวัย 3 ขวบ นั้น เป็นวัยที่มีพัฒนาการทางภาษาที่รวดเร็ว มีจินตนาการสร้างสรรค์ และมีความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้นด้วย พวกเขาสามารถติดตามและเข้าใจเรื่องเล่าง่ายๆ ได้แล้ว จึงชอบฟังเรื่องซ้ำไปซ้ำมา ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรอ่านเรื่องที่ลูกชอบและร้องขอให้อ่านให้ฟังอย่างซ้ำแล้วซ้ำอีก หากลูกวัยนี้มีประสบการณ์ทางภาษาที่ดี (วรรณกรรม) และภาพที่ดี (ศิลปกรรม) จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างนิสัยรักการอ่านในอนาคตได้

มูลนิธิเอสซีจีจัดพิมพ์หนังสือภาพสำหรับเด็กในปี 2560 จำนวน 5 เรื่อง

วัย 4-6 ขวบ
เมื่อเข้าสู่วัย 4 ขวบ ความสามารถทางภาษาของเด็กจะพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ความชอบของเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกันอย่างชัดเจน ทำให้การเลือกหนังสือภาพมีข้อจำกัดมากขึ้น หนังสือภาพสำหรับเด็กวัยนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นนิทาน และเรื่องเล่าที่ประพันธ์ขึ้นสำหรับเด็ก

เด็ก 4 ขวบ เป็นวัยสร้างพื้นฐานทางด้านจินตนาการสร้างสรรค์ เมื่อเด็กฟังนิทานทางหู และเข้าไปอยู่ในโลกของนิทาน ในหัวก็จะวาดภาพไปตามเรื่องราวที่ได้ยิน โดยภาษาเล่าเรื่องเป็นภาษาที่มองด้วยตาไม่เห็น แต่เมื่อเด็กได้ฟังนิทาน ภาพของตัวละครในนิทานจะปรากฏขึ้นในหัว แม้ว่าตรงหน้าเด็กจะไม่มีอะไรเลย แต่พลังของเรื่องราวที่เด็กได้ยินจะทำให้เด็กวาดภาพขึ้นเองในสมองได้ อย่างไรก็ตาม ภาพของหนังสือภาพจะช่วยให้เด็กวาดภาพเหล่านั้นในสมองได้ง่ายขึ้น

ส่วนเด็กวัย 5 ขวบนั้น พ่อแม่ควรหาหนังสือภาพที่เด็กหลงใหลให้ได้ 1 เล่ม ส่วนมากเด็กจะชอบหนังสือภาพนิทาน และเรื่องที่ยาวขึ้น โดยการค้นหาหนังสือที่ชอบมากเป็นพิเศษนี้ มีความหมายต่อเด็กมาก เปรียบเสมือนการค้นพบขุมทรัพย์อันล้ำค่าทีเดียว ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากต่อพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็ก ประสบการณ์นี้เด็กจะไม่ได้รับในโรงเรียน แม้แต่ในชั่วโมงสอนภาษาก็สอนเด็กไม่ได้ลึกซึ้งฝังใจเหมือนภาษาของหนังสือภาพนิทาน

เมื่อถึงวัย 6 ขวบ ซึ่งลูกโตพอที่พ่อแม่สามารถอ่านนิทานเรื่องยาวให้ลูกฟังเป็นตอนๆ ติดต่อกันทุกวันได้ หรืออ่านร่วมกันกับลูก เด็กก็จะรู้สึกสนุก และเฝ้ารอคอยฟังตอนต่อไปในวันรุ่งขึ้น โดยนิทาน หรือบทประพันธ์ ควรเป็นเรื่องราวที่ชวนให้เด็กรู้สึกสนุกกับการสร้างจินตนาการ และใช้ภาษาที่เหมาะสม เมื่อเด็กอ่านหนังสือออก เด็กจะอ่านเรื่องที่เคยฟังแล้วซ้ำอีก หรือเรื่องที่เขาชอบเป็นพิเศษ และสนุกกับมันได้ด้วยตัวเอง

ข้อแนะนำในการใช้หนังสือภาพ
1.หนังสือภาพเพื่อเด็ก ไม่ใช่หนังสือที่ให้ประโยชน์ต่อเด็กในทันทีทันใด แต่เป็นหนังสือที่ให้ “ความสุขและความสนุก” แก่เด็ก และช่วยจุดประกายความสนใจที่มีต่อหนังสือให้เกิดขึ้นในใจเด็ก
2.หนังสือภาพเพื่อเด็ก ไม่ใช่หนังสือสำหรับเด็กอ่านเอง แต่เป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่อ่านให้เด็กฟัง เป็นสื่อกลางสร้างความสุขในครอบครัว และสร้างพื้นฐานด้านมนุษยสัมพันธ์แก่เด็ก
3.หนังสือภาพที่เด็กชอบเป็นพิเศษควรอ่านให้ฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่าเท่าที่เด็กร้องขอ เพราะเป็นพื้นฐานของการสร้างความสามารถในการอ่านหนังสือ และพลังทางภาษาได้ดีทีเดียว
4.เมื่ออ่านหนังสือภาพจบแล้ว ไม่ควรตั้งคำถามทดสอบความเข้าใจของลูกเหมือนครูในโรงเรียน นอกเสียจากลูกจะถามขึ้นเองจึงค่อยอธิบายให้ฟัง
5.ก่อนตัดสินใจเลือกหนังสือภาพ สิ่งที่พ่อแม่ควรพิจารณามากที่สุด คือหนังสือเล่มนั้น จะทำให้ลูกมีความสุขมากเพียงใด เพราะหนังสือภาพคือตัวกระตุ้นที่ดีที่สุดในการสร้างนิสัยรักการอ่านหนังสือแก่เด็กไปจนโต
ที่มา: สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.)

 

Stay Connected
Latest News