RATCH รุกกลยุทธ์ป่าชุมชน 4 ด้าน

ถือเป็นต้นแบบความร่วมมือภาครัฐคือกรมป่าไม้ และเอกชนราชบุรีโฮลดิ้ง ผนึกกำลังกว่าทศวรรษขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดตั้งป่าชุมชนอย่างจริงจัง และเห็นผลเป็นรูปธรรม

กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จเรศักดิ์ นันตะวงษ์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ ลงนามบันทึกความร่วมมือ “โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ระยะ 3 (พ.ศ. 2561-2565) เพื่อแสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ “ป่าชุมชน” ที่ส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าไม้ของประเทศ โครงการนี้

ถือเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านป่าชุมชนของกรมป่าไม้ เพื่อตอบสนองเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศมีเป้าหมายที่จะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าไม้อย่างน้อย 40% ของพื้นที่ประเทศภายใน 20 ปี คิดเป็นพื้นที่ 129.41 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ 102.17 ล้านไร่ ซึ่งป่าชุมชน เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่นำมาใช้ขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

“เป็นระยะเวลากว่าทศวรรษแล้ว ที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร ป่าไม้ในรูป “ป่าชุมชน” โดยมุ่งหวังเพิ่มพื้นที่ป่า ซึ่งจะเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนลดภาวะโลกร้อนด้วย ความต่อเนื่องของโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ในระยะที่ 3 จะทำให้การส่งเสริมป่าชุมชนมีประสิทธิผลมากขึ้น ทั้งในด้านจำนวนป่าชุมชน พื้นที่ป่า และประโยชน์ร่วมทั้งด้านสังคม และเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและประเทศด้วย โครงการนี้ถือเป็นต้นแบบความร่วมมือด้านอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนระยะยาวและเห็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม”

สรุปผลการดำเนินโครงการ คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน 2551-2560

สรุปผลการศึกษาการกักเก็บคาร์บอนและความหลากหลายทางชีวภาพป่าชุมชน 2556-2560 จำนวนป่าตัวอย่าง 43 แห่งทั่วทุกภาคของประเทศ

สำหรับบันทึกข้อตกลงครั้งนี้กำหนดขอบเขตความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่

1.การประกวดป่าชุมชน โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน เพื่อยกย่องเชิดชูชุมชนที่มีการจัดการป่าแบบป่ายั่งยืน ชุมชนได้ประโยชน์ ช่วยจุดประกายและขยายผลการจัดตั้งป่าชุมชนของประเทศ

2.การสร้างเครือข่ายป่าชุมชน สร้างเครือข่ายผู้นำป่าชุมชน และเยาวชนนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ รวมทั้งเครือข่ายราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้นำป่าชุมชนและขยายเป็นเครือข่ายที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการสืบทอดเจตนารมณ์การปกป้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3.ส่งเสริมการบริหารจัดการป่าชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในการปกป้องดูแลรักษาป่าเดิม การเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน การปลูกฟื้นฟูป่า ส่งเสริมให้ป่าชุมชนเป็นห้องเรียนทางธรรมชาติ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องทรัพยากรป่าไม้ การประเมินผลกระทบ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเกื้อกูลและยั่งยืน

4.การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ เพื่อให้สาธารณชนเกิดจิตสำนึกและความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการป่าชุมชนและผลการดำเนินงานของชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการดูแลรักษาป่า

ผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมของโครงการตลอดทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความจริงจังกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม และธรรมาภิบาล เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือ การเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร

Stay Connected
Latest News