อ่านก่อนซื้อแบรนด์ Fast Fashion

ขณะที่เรากำลังสนุกสนานกับการเลือกเสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่  แฟชั่นใหม่และพร้อมจะหยิบลงตระกร้าได้ทุกวินาที อีกมุมหนึ่งเราลืมนึกถึงไปว่า เสื้อผ้าเหล่านี้เป็นต้นตอทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่ถูกเรียกว่า Fast Fashion

ว่ากันว่าทุกนาที มีคนกำลังจ่ายเงินเพื่อซื้อซื้อแบรนด์ Fast Fashionกลับบ้าน นั่นหมายความว่า เราเองได้ทำลายสิ่งแวดล้อมทางอ้อม

Fast Fashion แปลกันตรงๆ คือแฟชั่นรวดเร็ว หมายถึง เสื้อผ้า สินค้าที่เกี่ยวกับแฟชั่นต่างๆ ถูกผลิตออกมาอย่างรวดเร็ว ในราคาต่ำที่สุด ขณะที่ผู้ซื้อมีความต้องการซื้อบ่อยๆ คือ ใช้ไม่กี่ครั้งก็ทิ้ง แล้วไปซื้อรุ่นใหม่ๆ มาทดแทน

พูดกันง่ายๆ เจ้าของแบรนด์ Fast Fashion จะผลิตสินค้าออกมาเพื่อนำเสนอลูกค้าที่มีอยู่ทุกมุมโลกให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ด้วยต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด จึงเห็นว่าเวลาเราไปห้างทีไร จะเห็นเสื้อผ้ารุ่นใหม่ๆ โชว์หน้าร้านทุกสัปดาห์

เพิ่มเติมอีกนิด เสื้อผ้า Fast Fashion มักมีสีสันเตะตา ดีไซน์ต่างๆ บนเสื้อผ้าน่าจับต้อง แน่นอนคุณสมบัติเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญอันดับต้นๆ ในการทำธุรกิจ ผลิตออกมาแล้วช่างน่าดู สุดท้ายผู้คนก็ยินดีจ่ายให้คอลเลคชั่นใหม่ๆ ทุกครั้งที่เดินเข้าร้าน

แต่คำว่ารวดเร็ว และราคาต่ำที่สุดนี้ อีกมุมกลับละเลยใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม ! ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างมลพิษทางน้ำ เส้นใยสิ่งทอมีส่วนเพิ่มระดับของเสียในน้ำ

เสื้อผ้าก่อนจะมาถึงมือเราได้ผ่านสารเคมีที่เป็นพิษ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการผลิต

แคมเปญที่มีชื่อว่า Detox Campaign ของกรีนพีซ เป็นเครื่องมือสำคัญในการกดดันให้แบรนด์ Fast Fashion ดำเนินการเพื่อขจัดสารพิษออกไปจากห่วงโซ่อุปทาน

จากการทดลองพบว่า กระบวนการผลิตเสื้อผ้าจำนวนมาก ปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีอันตราย เช่น สารโนนิลฟีนอลอีทอกซิเลท (Nonylphenol Ethoxylates หรือ NPEs) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติคงทนหรือสะสมได้ในสิ่งแวดล้อม และยังพบสารนิลฟีนอล (Nonylphenol หรือ NP) ที่เป็นสารรบกวนระบบฮอร์โมนอีกด้วย รวมไปถึงสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง

โพลีเอสเตอร์ เป็นเส้นใยที่ใช้กันมากในวงการ Fast Fashion แต่เมื่อเราซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยประเภทนี้ เมื่อนำไปซักผ่านเครื่องซักผ้า จะปล่อยไมโครไฟเบอร์ออกมา หมายความว่า น้ำที่ถูกปล่อยออกจากเครื่องซักผ้าจะไปเพิ่มระดับพลาสติกในแม่น้ำ ลำคลอง ทะเล

ถึงแม้ไมโครไฟเบอร์จะผ่านการบำบัดน้ำเสีย แต่เนื่องจากไม่สามารถย่อยสลายได้ ย่อมเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อชีวิตในน้ำ

สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ เช่น แพลงก์ตอน เมื่อกินเส้นไยไมโครไฟเบอร์เข้าไป จะทำให้ห่วงโซ่อาหารของปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ที่ดำรงชีวิตด้วยแพลงก์ตอนหยุดชะงัก

หรือหอยที่กินเส้นไยไมโครไฟเบอร์เข้าไป อีกไม่กี่วันหอยเหล่านั้น ก็ถูกจับขึ้นมาเพื่อเป็นอาหารมื้อสุดหรูของมนุษย์

ผลกระทบที่ร้ายแรงต่อการใช้สารเคมีที่เป็นพิษในไร่ปลูกฝ้าย แสดงไว้ในสารคดีเรื่อง The True Cost รวมถึงการเสียชีวิตของเกษตรกรในไร่ฝ้าย ที่สหรัฐอเมริกา จากเนื้องอกในสมอง และความผิดปกติของทารกแรกเกิดที่รุนแรงของเด็กๆ ในไร่ฝ้าย จากประเทศอินเดีย

การเพาะปลูกฝ้าย จำเป็นต้องใช้น้ำและสารกำจัดศัตรูพืชในระดับสูงเพื่อป้องกันความเสียหายด้านผลผลิต คำถามคือ ไร่ฝ้ายในประเทศกำลังพัฒนา ขาดการลงทุนและความรู้ที่เพียงพอ และผลกระทบในระยะยาวหนีไม่พ้นภัยแล้งที่จะตามมา

น่ากลัวขนาดไหน ก็แค่กระบวนการย้อมผ้า ต้องใช้น้ำสะอาดเยอะเป็นอันดับสอง เป็นรองแค่ภาคการเกษตรเท่านั้น

ถึงแม้ว่าไร่ฝ้ายที่ปลูกกันอยู่ทั่วโลก ส่วนใหญ่จะมีการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้ทนทานต่อแมลงศัตรูที่จะมากินฝ้าย ผลดีคือ ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดการใช้สารเคมีมากำจัดศัตรูพืช ต้นทุนการผลิตลดต่ำลง

แต่ปัญหาตามมาคือ วัชพืชต่างๆ อาจเกิดการดื้อต่อสารเคมีที่ใช้ ทำให้เกิดวัชพืชพิเศษ ที่เรียกว่า Superweeds หมายถึงวัชพืชที่กำจัดได้ยากด้วยวิธีการทั่วไป และสามารถเจริญเติบโตขึ้นมาทดแทนพืชผลทางการเกษตรทั่วไปได้

เมื่อเป็นแบบนี้ เกษตรกรก็ต้องจัดการด้วยสารเคมีที่เข้มข้นมากขึ้น ผลตามมาหนีไม่พันเกิดมลพิษมากขึ้น และเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทุกประเภท รวมถึงมนุษย์

ปัจจุบัน เจ้าของแบรนด์ Fast Fashion มีความต้องการใช้ฝ้ายออร์แกนิคเพิ่มสูงขึ้น อย่างเช่น H&M และ Inditex ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Zara ถือได้ว่าเป็นผู้ใช้ฝ้ายออร์แกนิคมากที่สุดติด 1 ใน 5 ของโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่นั่นก็เป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของฝ้ายที่ผลิตได้ทั้งโลก

มาถึงตรงนี้มีคำถามคาใจอยู่ว่า ถึงแม้ธุรกิจ Fast Fashion จะเข้าโครงการต่างๆ และคำนึกถึงการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ESG (Environmental, Social and Governance)

แต่ดูเหมือนว่าธุรกิจนี้กลับเติบใหญ่กว่าที่คิด สังเกตจากมีการเปิดสาขาทั่วทุกมุมโลกอย่างรวดเร็ว เมืองใหญ่ๆ ที่มีกำลังซื้อล้นเหลือ มีจำนวนสาขาผุดขึ้นราวดอกเห็ด เพื่อดึงเงินจากกระเป๋าลูกค้า

ขณะที่นักธุรกิจกำลังโกยเงินเข้าบัญชี
อีกมุมหนึ่ง สิ่งแวดล้อมกำลังหายใจรวยริน

ที่มาของข้อมูล
1.รองศาสตราจารย์ Patsy Perry ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดธุรกิจแฟชั่น มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์
2.World Economic Forum
3.The Conversation

เครดิตเรื่อง…
Thitimeth Phokkachai

Stay Connected
Latest News