Emma Yang เห็นคุณยายเธอ ที่พยายามนึกว่าคนในครอบครัวคนนี้เป็นใคร? เป็นเรื่องยากของคนป่วยโรคอัลไซเมอร์ จึงพัฒนาแอปฯ Timeless ใช้ AI และ การจดจำใบหน้า เพื่อช่วยคุณยาย และผู้ป่วยโรค อัลไซเมอร์ทั่วโลก
“ช่วงอายุ 7 – 8 ปี เห็นคุณยายมีอาการหลงลืมเพิ่มขึ้นจากการเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งอาการแบบนี้ส่งผลกระทบไม่เพียงแต่ตัวผู้ป่วยเท่านั้น ยังรวมถึงสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนฝูงด้วย พอตัวเองอายุได้ประมาณ 11-12 ปี ก็ใช้ความสนใจส่วนตัวทางด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ พัฒนาแอปฯ เพื่อช่วยฟื้นความจำผู้ป่วยอัลไซเมอร์โดยการจดจำใบหน้า ซึ่งไม่เพียงจะช่วยคุณยาย แต่ตั้งใจให้แอปฯ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทั่วโลกที่คนในครอบครัวเป็นผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์”
Emma Yang ในวัย 14 ปีกล่าวไว้ !
ทั้งนี้ แอปฯ Timeless ของ Emma Yang ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยผู้ป่วยอัลไซเมอร์สามารถเลื่อนหน้าจอผ่านรูปภาพของเพื่อนๆ และคนในครอบครัว ซึ่งแอปฯจะระบุว่าบุคคลนั้นเป็นใคร มีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยอย่างไร โดยใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า แต่หากผู้ป่วยไม่สามารถจำใบหน้าบางคนได้ ผู้ป่วยสามารถถ่ายรูป แล้วเทคโนโลยีนี้จะระบุตัวตนคนเหล่านั้นได้อย่างอัตโนมัติ
“ในการพัฒนาแอปฯ Timeless ได้เห็นความสามารถ AI การจดจำใบหน้าที่ได้รับการพัฒนา และนำมาประยุกต์ใช้ในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งได้ร่วมมือกับที่ปรึกษาจากบริษัทเทคโนโลยี Kairos พัฒนาซอฟแวร์การจดจำใบหน้าที่ถูกนำมาใช้ในแอปฯนี้ และยังได้เรียนรู้การใช้แอปฯ ในไอโฟนเป็นครั้งแรกด้วย”
Emma Yang ขยายความต่อว่า ในแอปฯ Timeless ประกอบด้วย การเตือนความจำแบบง่ายๆ ที่สามารถบันทึกนัดหมายของวันได้ และยังรวมไปถึงรายชื่อที่แสดงรูปภาพของสมาชิกในครอบครัวพร้อมระบุชื่อ หากผู้ป่วยพยายามติดต่อคนในรายชื่อซ้ำๆ ข้อความเตือนหน้าจอก็จะปรากฏขึ้นว่า
…คุณยืนยันที่จะโทรหาเบอร์นี้ใช่ไหม คุณเพิ่งโทรไปไม่ถึง 5 นาทีที่แล้ว…
ส่วนในหน้าของ “ฉัน” จะแสดงรายละเอียดของผู้ป่วย ทั้งชื่อ อายุ เบอร์โทรศัพท์และที่อยู่
สำหรับผู้ให้การดูแลผู้ป่วย จะดูแลในส่วนอื่นๆ ของแอปฯ รวมถึงกิจกรรมต่างๆบนปฏิทินรายวัน การเชื้อเชิญเพื่อนๆและคนในครอบครัวให้ส่งรูปภาพเพื่อให้ระบบจดจำใบหน้าสามารถเรียนรู้การระบุตัวตนของพวกเขาได้
แม้ว่า แอปฯยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา และ Emma Yang เองก็ยังไม่มีผลทดสอบของแอปฯ นี้ก็ตาม แต่เธอได้ระดมเงินทุนผ่าน Crowdfunding เพื่อนำร่องให้กับผู้ป่วยในขั้นต่อไป ซึ่ง Emma Yang ยังคงมีความหวังว่าแอปฯ จะช่วยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้ป่วยได้รับคำแนะนำตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่เป็นโรค
“ปัจจุบันยังไม่มีแอปฯใดที่ไว้คอยช่วยเหลือในการใช้ชีวิตแต่ละวันของผู้ป่วยอัลไซเมอร์คนมักคิดว่ามันไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย หรือผู้สูงวัยมักไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยีเท่าใดนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากคุณแนะนำให้ผู้ป่วยสูงวัยได้รับทราบ สิ่งนี้จะเกิดประโยชน์กับการใช้ชีวิตในแต่ละวันของพวกเขาอย่างมหาศาล”
รองศาสตราจารย์ Catherine Possin แห่งศูนย์ UCSF Memory and Aging Center ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโปรเจ็คนี้มีความเห็นว่า
“คงเป็นเรื่องยากสำหรับใครบางคน ที่มีภาวะสมองเสื่อม หรือมีปัญหาเรื่องความจำที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีหรือซอฟท์แวร์ใหม่ๆ แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการไม่หนักเกินไปและได้รับการสนับสนุนจากผู้ดูแล ก็เป็นไปได้ว่าแอปฯ จะเป็นเรื่องง่ายที่พวกผู้ป่วยจะเรียนรู้เพื่อนำมาใช้งานด้วยการฝึกฝนซ้ำๆ”
อย่างไรก็ตาม การเลื่อนหน้าจอผ่านรูปถ่ายที่มีชื่อติดไว้ สามารถเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมทางโซเชียลสำหรับผู้ป่วยได้เช่นกัน ซึ่งจะช่วยให้เพื่อนฝูง และสมาชิกในครอบครัวยังคงอยู่ในความทรงจำ อีกทั้งยังช่วยให้ความทรงจำมีประสิทธิภาพขึ้น
Possin กล่าวเสริมในท้ายที่สุดว่า แอปฯ Timeless จะช่วยได้มากสำหรับผู้ป่วยในการฝึกหัดความทรงจำที่นับว่ามีความสำคัญต่อพวกเขา อีกทั้งยังเป็นโอกาสฝึกฝนความทรงจำให้เกิดประสิทธิภาพ ช่วยทำให้มีโอกาสฟื้นฟูจากโรคอัลไซเมอร์ได้ดีขึ้นด้วย
ที่มาเรื่อง&ภาพ…