Sustainable Brands ’17 BKK นิยามคุณภาพ “ชีวิตที่ดี” เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

นับเป็นการขับเคลื่อนธุรกิจในรูปแบบ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่ให้คุณค่าของการแบ่งปันสู่สังคมมากกว่าผลกำไรที่เป็นเงินเพียงอย่างเดียว โดย Social Movement ครั้งนี้ประกอบด้วย นักธุรกิจ ผู้บริหาร นักการตลาด ผู้บริหารแบรนด์ รวมถึง ผู้ที่สนใจเรื่องนี้ทั่วโลก

ทั้งหมดได้ร่วมกัน Redefining the Good Life ไลฟ์ ครอบคลุมถึง 8 หัวข้อหลัก ได้แก่ Good Food, Good Home, Good Lifestyle, Good Money, Good Design, Good Energy, Good Technology และ Good Destination

ดร. ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการโครงการ Sustainable Brands ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “งานประชุม Sustainable Brands ถือเป็นศูนย์รวมของนักสร้าง แบรนด์ นักการตลาด นักธุรกิจ ที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ รวมทั้งสร้างแบรนด์เพื่อให้มีส่วนในการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับสังคม โดยมีการจัดประชุมในหลายประเทศ การจัดประชุม SB Bangkok นั้นจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้แบรนด์ไทยได้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งพบว่าแบรนด์ไทย ก็ไม่แพ้ใครในโลก เพราะฉะนั้นหากเรารวมตัวกันได้ และมีระบบของการแบ่งปันความรู้ที่อยู่ในแพลตฟอร์มของโลกก็จะมีโอกาสทำให้คนรู้จักแบรนด์ไทยมากขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์ไทยที่น้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในเรื่องของการสร้างความยั่งยืน ซึ่งแบรนด์เหล่านี้สามารถเป็นต้นแบบให้โลกได้ทั้งสิ้น

“สิ่งหนึ่งที่เป็นคาแรคเตอร์ของแบรนด์ไทยในเรื่องของความยั่งยืนคือ เราเป็นประเทศที่สามารถจะนำเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงบวกกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ดีไม่แพ้ประเทศใดในโลก และมั่นใจว่างาน SB’17 Bangkok จะเป็นเวทีที่ทำให้ทุกคนได้มาเรียนรู้ และแบ่งปันสิ่งที่จะทำให้ทุกคนแข็งแกร่งไปด้วยกัน” ดร. ศิริกุลกล่าว

สำหรับวันแรกของการประชุมได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงของมูลนิธิ และองค์กรต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยในหลากหลายด้าน ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อที่น่าสนใจต่าง ๆ อาทิ

คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา รองเลขาธิการและกรรมการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ใน พระบรมราชูปถัมภ์ ในหัวข้อ “Good Life According to Thai Royal Wisdom” และพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากโครงการหลวง ในหัวข้อ “How Food Can Sustain Life”

คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา รองเลขาธิการและกรรมการ มูลนิธิ แม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า เพื่อแก้ปัญหาความ “เจ็บ จน ไม่รู้” อย่างบูรณาการและครบวงจร “ดอยตุงตั้งอยู่ใจกลางสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งสมัยก่อนเป็นพื้นที่ ที่ผลิตฝิ่นมากที่สุดในโลก รวมทั้งเป็นเส้นทางขนฝิ่นด้วย และมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 26 เผ่า ซึ่งคนเหล่านี้เป็นผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชน และอยู่ในวงจรของการผลิตฝิ่น การค้ายาเสพติด รวมทั้งมีการเผาป่า ถางไร่ เรียกว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความมั่นคงในชีวิต จึงใช้ชีวิตไปวัน ๆ โดยไม่มีอนาคต ไม่มีความหวังใด ๆ ทั้งสิ้น

สมเด็จย่าทรงเชื่อว่า ไม่มีใครที่อยากเป็นคนไม่ดี เพียงแต่เขาไม่มีโอกาสที่จะทำความดีเท่านั้นเอง ดังนั้นพระองค์ท่านจึงมีพระราชกรณียกิจในการทำให้คนช่วยเหลือตนเองได้ และให้คนสามารถอยู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างกลมกลืน โดยคนนั้นถือเป็นหัวใจในการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราต้องเรียนรู้ก่อนว่า ความต้องการของเขาคืออะไร เงื่อนไขในชีวิตของเขาคืออะไร แล้วให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้น เราก็ได้เรียนรู้จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในการให้ความสำคัญกับคน รวมทั้งแบ่งการพัฒนาคนเป็น 3 ระดับ (3 S Model) ได้แก่ การมีชีวิตรอด (Survival) , ความพอเพียง (Sufficiency) และ ความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งโมเดลในการพัฒนานี้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคน เน้นการพัฒนาที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางให้ชุมชนมีส่วนร่วม และรู้สึกเป็นเจ้าของการพัฒนาตั้งแต่แรกเริ่ม แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่รากเหง้า ส่งเสริมทางเลือกในการประกอบอาชีพที่สุจริต ตลอดจนหาแนวทางให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ในแง่ของสิ่งแวดล้อม พื้นที่ป่าก็ได้รับการฟื้นฟูจากภูเขาหัวโล้นในอดีต ก็เขียวขจีไปด้วยป่าไม้ในปัจจุบัน และพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอีกด้วย”

“ทุกวันนี้ทางสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติได้มีการผนวกรวมพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เข้าไปในแนวทางพัฒนาของยูเอ็นด้วย โดยได้มีการกำหนดให้อีก 15 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะบรรลุถึงเอสดีจี (SDG) หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการดำเนินการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ก็เป็นไปเพื่อตอบสนองเป้าหมายเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นผู้ที่ให้ซอฟแวร์สนับสนุนความรู้กับประเทศอื่น ๆ ตามพระราชปณิธาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จย่า รวมถึงโครงการพัฒนา ดอยตุงฯ ที่กลายเป็นโมเดลการพัฒนาให้เกิดชีวิตที่ดี เป็นชีวิตที่มีโอกาส สามารถเข้าถึงการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นชีวิตที่มีชีวิตอยู่อย่างรับผิดชอบ เอาใจใส่ และแสวงหาอนาคตที่ดีกว่า”

พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากโครงการหลวง เล่าถึงจุดเริ่มต้นของดอยคำ ที่เกิดขึ้นมาจาก พระราชวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในการแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยส่งเสริมการปลูกพืชผัก ผลไม้ หลากหลายชนิดทดแทน และจึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “สหกรณ์ชาวเขา” และ “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป” ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานหลวง ฯ ทั้งหมด 4 แห่ง เพื่อช่วยเหลือด้านการรับซื้อผลผลิตจากพืชที่ส่งเสริมในราคาเป็นธรรม โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในเครื่องหมายการค้า “ดอยคำ” เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร

ซีอีโอ แบรนด์ดอยคำ ยกตัวอย่างกรณีศึกษาในการสร้างโรงงานหลวงสำเร็จรูป เพื่อแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ ว่า “พระองค์ท่านทรงสร้างโรงงานทางภาคเหนือ 2 แห่ง คือ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และอ.แม่จัน จ.เชียงราย เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องของฝิ่น และทรงสร้างอีก 2 แห่งทางภาคอีสาน 2 แห่ง คือ อ.เตางอย จ.สกลนคร และ อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจกัน ในเรื่องของความคิด ลัทธิทางการเมือง เนื่องจากปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ในยุคนั้นอยู่บนเทือกเขาภูพาน ซึ่งอยู่ในพื้นที่เต่างอย และเป็นแหล่งอาหารของคอมมิวนิสต์

ดังนั้น สิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำคือ ทรงสร้างโรงงานหลวง ที่เตางอย ดังนั้นแทนที่เกษตรกรจะส่งวัตถุดิบให้พรรคคอมมิวนิสต์ ก็เปลี่ยนมาจำหน่ายให้โรงงานหลวงฯ ทำให้เกษตรกรขายผลิตผลการเกษตรได้ง่ายขึ้น และสุดท้ายเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ไม่มีอาหารก็ลงมามอบตัว และเป็นการไม่ใช้อาวุธประหัตประหารคนไทยด้วยกัน ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริในการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง และยั่งยืนที่สุด ซึ่งปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ก็น่าจะนำแนวพระราชดำริเหล่านี้กลับมาใช้ได้ ว่าทรงทำไว้อย่างไร แล้วจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ทุกวันนี้ดอยคำ เดินตามแนวทางที่พระองค์ท่านทรงวางไว้ เพื่อสร้างฐานทางรากแก้วของสังคมให้เกิดขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการสร้างสุขให้สังคม ด้วยการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน”

นอกจากนี้คณะผู้จัดงานได้นำเทปบันทึกการแสดงธรรมเทศนา ของ พระอาจารย์ชยสาโร องค์ประธานที่ปรึกษาของมูลนิธิปัญญาประทีป ในหัวข้อ “ธรรมะกับการทำธุรกิจที่ดี” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมในระยะยาว รวมทั้งสะท้อนถึงการค้นหาความหมายของชีวิตที่ดี ว่า

“ในความเป็นมนุษย์เราทุกคนล้วนแก่ขึ้นทุกวัน และต้องจากโลกนี้ไป เมื่อเป็นเช่นนี้ อะไรคือหนทางที่ดีที่สุดในการอยู่ร่วมกัน ที่จะทำให้เราสามารถทำให้โลกน่าอยู่ และส่งต่อโลกนั้นให้กับลูกหลานของเราได้ ดังนั้นจึงควรตระหนักถึงการมีชีวิตอยู่ของเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แทนที่จะให้ความสำคัญกับบางเรื่องมากเกินไป อย่างเช่นคนที่เขาผลิต คนที่ขาย คนที่ซื้อ คนที่บริโภคสินค้าต่าง ๆ โดยไม่มองถึงภาพใหญ่ของสังคม ไม่มองถึงการมีชีวิตอยู่ร่วมกันในโลกที่ทรัพยากรก็มีจำกัด และหากสร้างระบบที่ผลกำไรในระยะสั้นมาเป็นอันดับแรก ก็จะทำให้เรื่องอื่นกลายเป็นเรื่องยาก”

พระอาจารย์ชยสาโร กล่าวเพิ่มเติมว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้นเกิดขึ้นรวดเร็วเกินกว่าที่ความสามารถทางจิตใจ หรือปัญญาของเราจะตามได้ ทั้งยังรวดเร็วเกินกว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อเราในระยะยาวได้ ดังนั้นทักษะของนักธุรกิจที่แท้จริง จึงเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการหากำไรซึ่งเป็นผลประโยชน์ในระยะสั้น และการมองถึงคุณประโยชน์ในระยะยาวด้วย

“ตอนนี้เรามาถึงจุดที่สามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า แนวคิดที่เอาเงินเป็นตัวตั้งเพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในหลาย ๆ ปัจจัย มันเป็นรูปแบบที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ และจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยอาจจะต้องมานั่งจับเข่าคุยกันในรายละเอียด แต่หากความโลภยังเป็นแรงจูงใจที่สำคัญที่สุดอยู่ เราก็จะยังคงได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีอยู่วันยังค่ำ ดังนั้นจึงควรจะมีการพูดคุยกัน เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตองค์รวม และพยายามสร้างระบบเศรษฐกิจที่สนองความตัองการของทุกคนได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดการพัฒนาของมนุษย์ได้มากที่สุด และต้องเป็นไปในทิศทางที่ตอบสนองต่อเป้าหมายแบบยั่งยืน เป็นเป้าหมายที่ทุกคนในสังคม สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นได้ ไม่ใช่การพัฒนาในแบบที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม หรือคนที่ร่ำรวยในประเทศเท่านั้น แต่ควรเป็นการพัฒนาที่เป็นไปเพื่อทุกคน”

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 2 วัน ในงานการประชุมระดับนานาชาติ SB’17 Bangkok ผู้ร่วมงานยังได้พบกับสุดยอดผู้นำจากแบรนด์ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ที่จะมาร่วมเสวนาในเรื่องความยั่งยืนของโลกธุรกิจระดับสากลในแง่มุมต่าง ๆ อาทิ ฮาเวียร์ โกเยเนเช่ ผู้ก่อตั้งแบรนด์อีโคอัลฟ์ (ECOALF) เสื้อผ้าที่ทำจากวัสดุ รีไซเคิลผู้นำขยะจากมหาสมุทรมาเพิ่มมูลค่าสู่แฟชั่นแห่งความยั่งยืน, บันนี่ เหยียน เจ้าของแบรนด์ The Squirrelz นักออกแบบผู้สร้างขยะออนไลน์ ให้สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบได้ฟรี, แมทท์ แมคโก ผู้ก่อตั้ง Stok บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาออกแบบและก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืนที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม,   พอล เฮอร์แมน (Paul Herman) CEO จาก HIP investor ผู้นำเสนอระบบที่นักลงทุนสามารถที่จะสร้างกำไรไปพร้อมกับการสร้างสิ่งดีๆ สู่โลกได้ด้วย และ  โธมัส โคลสเตอร์ (Thomas Kolster) ผู้ก่อตั้ง #Goodvertising เอเจนซี่โฆษณาที่เชี่ยวชาญในการสื่อสารเรื่องความยั่งยืน และนักเขียนหนังสือชื่อ “Goodversiting” หนังสือแห่งการสื่อสารเชิงคุณค่าในสากล เป็นต้น

ข่าวเกี่ยวเนื่อง

Sustainable Brands 2017 Bangkok : 1 ใน Social Movement ยุคนี้

Stay Connected
Latest News