จากทุนการศึกษาใน “ป่า” สู่ Flagship Project & Knowledge Sharing

ถ้าพลิกอ่านนวนิยายแล้วเกิดจินตนาการ เมื่อ รพินทร์ ไพรวัลย์ นำ พันโท หม่อมราชวงศ์ เชษฐา วราฤทธิ์ พันตรี ไชยยันต์ อนันตรัย และแพทย์หญิง หม่อมราชวงศ์หญิง ดาริน วราฤทธิ์ ผ่านหุบลงป่าโปร่ง สู่ไพรมหากาฬ….

ในโลกแห่งความจริง ไพรก็คงมหากาฬไม่แพ้กัน อาจจะหนักกว่าด้วยซ้ำโดยเฉพาะผู้พิทักษ์ป่า ชุดลาดตระเวนที่ต้องเสี่ยงภัยอันตราย จากสัตว์หรือจากคนที่จ้องจะลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ฆ่าสัตว์ตามใบสั่ง จะเรียกว่าทำสงครามทุกวันในพื้นที่ป่าที่ต้องปกป้องดูแลแทนคนไทยอื่นๆ ก็ไม่ผิดนัก โดยผู้พิทักษ์ป่ามีจำนวน 20,000 คน ดูแลพื้นป่าประเทศไทยทั้งประเทศ ทั้งที่รายได้จากทางราชการไม่มาก ดังนั้นผู้พิทักษ์ป่าจะต้องเสียสละจริงๆ ทั้งๆ ที่บุคคลเหล่านี้ก็มีครอบครัวเมียและลูก ที่รอคอยการกลับมาจากทำงานในป่า

มูลนิธิเอสซีจี เห็นความสำคัญ จึงมอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรผู้พิทักษ์ป่า ปีนี้เป็นปีที่ 3 เพิ่มอีก 150 ทุน ครอบคุลม 54 พื้นที่ป่า (จากเดิม 2 ปีแรก ปี 2558 เริ่มมอบทุนดังล่าวแก่บุตรผู้พิทักษ์ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จำนวน 6 ทุน ต่อมาในปี 2559 สนับสนุนทุนการศึกษาเพิ่มอีก50 ทุน)

นับเป็น 1 ความเปลี่ยนแปลงที่มีอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปี จากนี้ไปคืออีก 2 ความเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นแล้วจากทุนการศึกษาให้แก่บุตรผู้พิทักษ์ป่า

“การให้ทุนการศึกษาเด็กๆ เป็นโครงการใหญ่ของมูลนิธิเอสซีจี จะเรียกว่า Flagship Project เป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นในการพัฒนาเยาวชนของเอสซีจี การให้ทุนเพื่อการศึกษานับเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันนับจากพ.ศ.2524จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 36 ปีแล้ว ที่ได้ดำเนินการโครงการ SCG Sharing the Dream โดยมูลนิธิเอสซีจีเพื่อสนับสนุนทุนการศึกษา ให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีความประพฤติดี มีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาต่อ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มอบทุนการศึกษาแล้วกว่า 77,000 ทุน…”

ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี ขยายความต่อว่า เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสทางการศึกษาตลอดจนพัฒนาศักยภาพให้พวกเขาเป็นคน “เก่งและดี” เป็นพลังของประเทศต่อไป ซึ่งในแต่ละปีมีนักเรียนทุน 4,000 ทุน โดยทุนนี้เป็นทุนให้เปล่า ไม่มีภาระผูกพันต้องใช้คืน และเป็นทุนการศึกษาต่อเนื่องจนถึงระดับปริญญาตรี เพื่อให้นักเรียนทุนมีหลักประกันด้านการศึกษาว่าจะสามารถเรียนจนจบตลอดรอดฝั่งตามที่ตัวเองใฝ่ฝันได้

“นักเรียนทุนเอสซีจีทุกกลุ่มไม่ใช่รับเงินอย่างเดียวแล้วไม่รู้จักพวกเรา เพราะฉะนั้นหน้าที่มูลนิธิเองต้องทำให้เกิดมีความสัมพันธ์ มีคอมมูนิตี้ของนักเรียนทุนด้วยกัน เช่นมีปัญหาเรื่องการเรียน เรื่องทั่วๆ ไป ก็ปรึกษากับมูลนิธิ เรามีการทำฐานข้อมูลนักเรียนทุนทั้งหมด มีการติดตามทุกปีที่เราให้ทุน ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นก็พยายามดูแลเต็มที่ อย่างเคสนี้ 20,000 คนเราให้ 100 กว่าทุนเท่านั้นเอง ยังมีอีกมาก ดังนั้น นอกจากเอสซีจีแล้ว จะทำอย่างไรให้ที่นี่เหมือนเป็นโครงการนำร่องให้โครงการอื่นเข้ามาช่วยกันบ้าง…”

ยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี เพิ่มเติมสิ่งที่คุณขจรเดชเอ่ยถึงโครงการนำร่อง ซึ่งระหว่างงานมีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองกับองค์กรใหญ่อีกแห่งที่มาร่วมงานวันนี้

“ตอนนี้เขาได้เห็นความมุ่งมั่นของผู้พิทักษ์ป่า ที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือเรื่องอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ก็ได้คุยว่าสนใจสร้างแนวกั้นป่า จะมีความเสียหายอยู่เรื่อยๆ ที่ป่าห้วยขาแข้ง ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จของกิจกรรมเรื่องนี้ สามารถสร้างพันธมิตรให้มาร่วมได้ มาช่วย ซึ่งตั้งแต่ปีแรกที่เราเริ่มทำ เราก็เชิญชวนพันธมิตรภาคเอกชนในเมืองไทย…”

ถือเป็นโอกาส “ความร่วมมือขององค์กรใหญ่” ในเชิง Knowledge Sharing ช่วยกันรักษาความหลากหลายเชิงนิเวศน์ของป่า ซึ่งมีทั้งป่าไม้ ป่าชายฝั่ง สัตว์ต่างๆ ที่ใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นบ้าน

ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงการเกิดของทุนการศึกษาให้แก่บุตรผู้พิทักษ์ป่า มาถึงปีที่ 3 ช่วยให้รู้สึกว่า ผู้พิทักษ์ป่า 20,000 คน ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว โดยมีมูลนิธิเอสซีจีเข้ามาช่วยดูแล สร้างขวัญกำลังใจและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้พิทักษ์ป่าให้ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถโดยไม่ต้อง “ห่วงหน้า พะวงหลัง” ต่อไป

คลิกที่รูปเพื่อชมคลิปวิดีโอ

“เวลาเราเข้าป่ามากกว่า 1 เดือน เราเดินป่าเราเดินทั้งเดือน โดยเรามีพื้นที่สับเปลี่ยนกัน อย่างผมอยู่ในพื้นที่มี 2 ชุด ชุดละ 6 คน เราเดินชุดละ 5 วัน มากสุด 7 วัน เพราะเราเดินมากกว่านั้นไม่ได้แบกเสบียงไม่ไหว แต่ละพื้นที่ลำบากมาก รกชัน อันตราย ขึ้นเขาลงห้วย การสับเปลี่ยนของเราเมื่อชุดหนึ่งกลับมา ชุดสองต้องออกทันที เพื่อไม่ให้ขาดตอนเพราะคนลักลอบทำผิดเขารู้พื้นที่ชำนาญมากกว่าเรา เราต้องเข้าพื้นที่ให้มากสุดในการปกป้องพื้นป่าและสัตว์ป่า ตรงนี้เราไม่เคยรู้สึกว่าเราจะเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ลูกเมียยังอยู่เบื้องหลัง เราต้องทน พยายามให้ป่าสมบูรณ์ ต้องการให้ประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน…”

ภิรมย์ พวงสุมาลย์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและหัวหน้าฝ่ายเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และประสานชุมชน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก เล่าถึงการทำงานในพื้นที่ให้ฟังต่อเนื่องว่า เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ที่มาอยู่ตรงนี้ มีอุดมการณ์และความมุ่งมั่นจริง เพราะอย่างตนเองไม่ได้จบอะไรมาเลย สูงสุดแค่ ม.6 ม.3 ที่เรารับคนไม่เรียนเยอะมาก เพราะเขาเป็นคนพื้นที่ ใช้ภาษาท้องถิ่นในเขตรักษาได้อย่างดี เรามีจิตทำงานจริงๆ เรามีอุดมการณ์ทำงานจริงๆ

“ผมอยู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มันไกล ลึกมาก ลำบากมาก บางที 3-4 เดือนถึงได้ออกมา ระหว่างนั้นเราต้องเดินป่าตลอด ผมพูดตรงๆ ว่า ลูกผม 2 คน ภรรยาผมคลอดลูก 2 คน ผมไม่เคยอยู่ตอนที่ภรรยายคลอดเลย ผมอยู่ในป่า กว่าจะออกมาลูกผมคลอดแล้ว นี่คือพิทักษ์ป่า ซึ่งมีความลำบาก ปัจจุบันดีขึ้นที่มีองค์กร และหลายภาคส่วนเข้ามาช่วยเหลือ

“โดยเฉพาะวันนี้ เป็นวันให้ความมุ่งมั่น ให้พวกผมมีกำลังใจต่อสู้เพื่อพื้นป่า ผมต้องกราบขอบพระคุณอธิบดีกรมอุทยานและสัตว์ป่า และมูลนิธิเอสซีจีที่ให้กำลังใจพวกผม และให้ความหวังกับลูกๆ ในอนาคตที่มีโอกาสได้เรียนสูงจนจบปริญญาตรี ซึ่งพ่อไม่ได้เรียน ผมไม่เคยคิดใฝ่ฝันกันมาก่อน ณ วันนี้ผมมีความภาคภูมิใจมาก โดยเฉพาะลูกๆ ผมที่เป็นห่วงมากครับผม…”

“เรื่องจริง” จากป่า ไม่สนุกสนานตามจินตนาการแบบนวนิยาย “เพชรพระอุมา” ของผู้ประพันธ์บรมครู “พนมเทียน”
“เรื่องจริง” จากป่า ยังมีคนเป็นๆ ในปัจจุบัน แบบตัวละครใน“เพชรพระอุมา” ชื่ออำพล พลากร ผู้อำนวยการบริษัท “ไทยไวล์ดไลฟ์” ธุรกิจสถานีกักสัตว์ เพื่อเตรียมส่งออกนอกประเทศที่ใญ่โต และทันสมัย
“เรื่องจริง” จากป่า ยังมีคนป็นๆ ในปัจจุบัน ผู้พิทักษ์ป่ามีกำลังใจต่อสู้เพื่อพื้นป่า โดยมูลนิธิเอสซีจีมอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรจนจบปริญญาตรี

ข้อมูลเพิ่มเติม

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการ มูลนิธิเอสซีจี เคยกล่าวว่า กรอบเวลาการให้ทุนนี้ ไม่ต่างจากทุนอื่นๆ คือเรียนให้เต็มที่ จนกระทั่งจบปริญญาตรี โดยทุนดังกล่าวได้เริ่มต้นเมื่อปี 2558 จากการที่ วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงาน Enterprise Brand Management เอสซีจี เห็นการทำงานในพื้นที่จริงของผู้พิทักษ์ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แล้วนำเรื่องดังกล่าวมาพูดคุยกับผู้บริหารมูลนิธิเอสซีจี ถึงความเป็นไปได้ในการช่วยเหลือที่ยั่งยืน จึงสามารถทำได้ในรูปแบบทุนการศึกษาให้กับบุตรผู้พิทักษ์ป่าทั่วประเทศ ประเดิมที่ห้วยขาแข้ง 6 ทุนมาถึงปีที่ 2 เพิ่มเป็น 50 ทุนดังที่กล่าวข้างต้น

ประเทศไทยมีผืนป่าอนุรักษ์กว่า 73 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศไทย อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจำนวน 20,000 คน ซึ่งหมายถึง พื้นที่ป่ากว่า 5,000 ไร่ อยู่ภายใต้การดูแลของผู้พิทักษ์ป่าเพียง 1 คนเท่านั้น โดยที่คนทำหน้าที่นี้ หากทำงานมานาน 20 ปี จะได้รับเงินเดือนที่ถือว่าสูงคือ 11,000 บาท ใช้เลี้ยงลูกเมีย ส่งลูกเรียนหนังสือ ซื้ออาหารไปปรุงเมื่อลาดตระเวนในป่า !

Cr.ภาพ เพจทุนมูลนิธิเอสซีจี https://www.facebook.com/SCGF.Scholarships

 

Stay Connected
Latest News