Sharing a Brighter Vision#3 ผ่าตัดต้อกระจกตา การให้ที่ไร้พรมแดน

ช่วงประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันมาแล้ว ณ โรงพยาบาล MawlamYine General Hospital จะคึกคักไปด้วยชาวเมียนมาที่มาผ่าตัดต้อกระจกตา ชาวเมียนมาเหล่านั้นไม่รู้หรอกว่า หมอ พยาบาล และจิตอาสากลุ่มใหญ่ที่มาผ่าตัดให้นั้นเป็นใคร มาจากไหน รู้แต่เพียงว่าเมื่อดวงตาของพวกเขามองเห็นแสงสว่าง เขาก็มองเห็นเทวดาและนางฟ้าอยู่เบื้องหน้า….

เอสซีจี ร่วมกับ สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  และโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ( องค์กรมหาชน) จัดโครงการผ่าตัดต้อกระจก Sharing a Brighter Vision ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคต้อกระจกในเมียนมา จำนวน 218 คน ให้กลับมามองเห็นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

โรงพยาบาล MawlamYine General Hospital มะละแหม่ง เมียนมา

โรคต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมของเลนส์ตา ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการสายตาฝ้าฟาง อาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นในที่สุด จากข้อมูลสถิติของภาครัฐ พบว่าในปัจจุบันพลเมืองเมียนมาป่วยเป็นโรคต้อกระจกกว่า 1,800,000 คน หรือคิดเป็น 4 % ของประชากรทั้งหมด ซึ่งการรักษาโรคต้อกระจกที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดและใส่เลนส์แก้วตามเทียมให้ผู้ป่วย โดยที่เมียนมาค่ารักษาคิดเป็นเงิน 4 หมื่นบาท ซึ่งแพงมากสำหรับคนยากจน

คนไข้ชาวเมียนมา ที่มารอผ่าตัดต้อกระจกโครงการ Sharing a Brighter Vision ครั้งที่ 3

น.พ.พรเทพ พงศ์ทวิก ผู้อำนวยการโรงพบาบาลบ้านแพ้ว กล่าวสรุปถึงโครงการครั้งที่ 3 นี้ว่า “ปีนี้มีผู้สนใจมาคัดกรองกว่า 2 พันคน และสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ 218 ราย โดยมีแพทย์จาก รพ.บ้านแพ้ว 4 คน พยาบาล 21 คน จิตอาสาและ นักเรียนทุนของเอสซีจี 10 คน และพนักงานของเอสซีจีที่ทำงานที่เมาะละแหม่งอีกจำนวนหนึ่ง  โดยปกติที่เมืองไทยสามารถผ่าตัดได้ปีละ 12,000 ราย แต่ที่เมียนมาติดปัญหาเรื่องเครื่องมือจึงสามารถเดินทางมาผ่าได้เพียงปีละ 200กว่ารายเท่านั้น”

“ หมอจ๋า” พ.ญ.พัทธ์ศรัณย์ ธนะสุพรรณ

“ หมอจ๋า” พ.ญ.พัทธ์ศรัณย์ ธนะสุพรรณ หนึ่งในทีมแพทย์จากโรงพยาบาลบ้านแพ้วที่เดินทางมารักษาโรคตาต้อกระจกในโครงการนี้กล่าวว่า “โครงการผ่าตัดต้อกระจก Shairing a Brighter Vision ครั้งที่ 3 ถือเป็นการผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่นกว่าทุกครั้ง เพราะมีการนำปัญหาที่เคยเกิดขึ้นจากทั้ง 2 ครั้งมาแก้ไข การมารักษาคนไข้ก็รู้สึกประทับใจทุกครั้ง เพราะเราได้เห็นคนไข้ที่ตามองไม่เห็นใช้ชีวิตอยู่ในโลกมืดอย่างทรมาน แล้วพอเราทำให้คนไข้สามารถมองเห็นได้ เราได้เห็นรอยยิ้มของเขาตอนเราเปิดตา แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว หมอเชื่อว่าการให้แสงสว่างเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่มากค่ะ ”

จิตอาสาชาวไทย,เมียนมา โดยชาวเมียนมาส่วนหนึ่งเป็นนักเรียนทุนของเอสซีจีมาร่วมทำงานครั้งนี้

การผ่าตัดต้อกระจกของโครงการ Shairing a Brighter Vision จัดขึ้นที่โรงพยาบาล MawlamYine General Hospital เป็นเวลา 2 วัน โดยก่อนหน้านั้นทางโรงพยาบาลจะคัดกรองผู้ป่วยจาก 2,000 คนให้เหลือ 400 คน วันแรกที่ทีมแพทย์และพยาบาลเดินทางมาถึงจะมีการคัดกรองคนไข้จาก 400 คนให้เหลือ 200 คนโดยดูจากความดันโลหิต และน้ำตาลในเลือด คนไข้ที่สุขภาพพร้อมทุกอย่างจึงสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ในช่วงบ่าย ซึ่งใช้เวลาผ่าตัดรายละ 12 นาที

หนึ่งในจิตอาสาที่มาพร้อมหน่วยแพทย์ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว

ส่วนวันที่ 2 เป็นพิธีเปิดตาผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดไปแล้วในวันแรก โดยมีบุคคลสำคัญทั้ง 2 ประเทศมาเป็นประธานในพิธี อาทิ ดร.มินท์ ทวย รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ประเทศเมียนมาร์ ,จักร บุญหลง เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง , อาสา สารสิน ประธานกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี ,รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และ Dr.Aye Zan มุขมนตรีรัฐมอญ

บรรยากาศในวันเปิดตาอบอวลไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขใจทั้งผู้ให้คือ คณะแพทย์ และจิตอาสา และผู้รับคือคนไข้ 218 คน ที่ได้รับการผ่าตัดไปในวันแรก และมารอเปิดตา

อาสา สารสิน กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้มีโอกาสร่วมเปิดตาคนไข้ว่า “ ตอนเปิดตาคนไข้คนหนึ่งที่เล่าว่ามองไม่เห็นมา 15 ปีแล้ว นี่เป็นครั้งแรกที่มองเห็น ซึ่งเรารู้สึกดีใจมากเลย ที่ได้นำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมมาในครั้งนี้ และจะพยายามนำโมเดลนี้ไปช่วยภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย”

พิธีเปิดตาผู้ป่วยในโครงการ Shairing a Brighter Vision 2017 ณ มะละแหม่ง

ท่านทูตจักร กล่าวเสริมว่า “ โครงการนี้ไม่เพียงจะให้คนไข้กลับมามองเห็นได้เท่านั้น แต่เป็นการให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และที่สำคัญคือให้ความฝัน ให้ความหวังเขากลับคืนมา อยากให้โครงการ CSR แบบนี้เป็นตัวอย่างให้บริษัทเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนในพม่าได้ทำบ้าง เพราะเราต้องแบ่งปันคืนให้แก่สังคมด้วย”

ในช่วงพิธีเปิดตาคนไข้นั้น คนไข้จำนวน 218 คนที่ทยอยรับการเปิดตา ทุกคนจะมีรอยยิ้มอย่างมีความสุขจากชีวิตที่เคยอยู่ในโลกมืดได้กลับมามองเห็นแสงสว่างได้อีกครั้ง โดยได้รับการช่วยเหลือจากโครงการฯ

อู อิน อาว อายุ 49 ปี เป็นชาวมะละแหม่งเคยเดินทางมาประเทศไทยเพื่อประกอบอาชีพชาวประมง ตอนนี้เป็นต้อมาได้ 2 ปีแล้ว โดยตาข้างขวามองไม่เห็นจึงต้องกลับมาที่เมียนมาเพื่อให้ลูกดูแล

รอยยิ้มอย่างมีความสุขของคนไข้ หลังจากเปิดตาแล้ว

“ไม่มีเงินรักษาเพราะจน มาเจอประกาศว่าโรงพยาบาลของไทยมาจะมารักษาตาให้ฟรีก็เลยมา มั่นใจว่าจะต้องมองเห็น หลังจากมองเห็นแล้วจะกลับไปทำงานที่เมืองไทยอีก”

ดอ พา ลิน หนึ่งในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดต้อข้างซ้าย หลังจากมีการเปิดตาแล้ว นางดอ พา ลินสามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง รู้สึกดีใจมาก โดยกล่าวว่า “ อยากขอบคุณคุณหมอที่มารักษา ขออวยพรให้ทุกคนที่มาช่วยในครั้งนี้มีความสุขตลอดปี”

นั่นคือส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อนจากคนไข้ที่ได้รับความทรมานจากโรคต้อกระจกในโลกมืด โครงการ Shairing a Brighter Vision จึงไม่เพียงนำแสงสว่างมาสู่คนไข้เท่านั้น แต่ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคนเมียนมาและคนไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 

Stay Connected
Latest News