ตจว. มุ่งพลังงานทดแทนอย่างไร ? (เผื่อเอกชนเติมมุม CSR)

นโยบายของกระทรวงพลังงาน ต่อพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ หนุนเทคโนโลยีพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ยกระดับคุณภาพชีวิต ลดรายจ่าย สร้างรายได้ให้ชุมชน

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นไปตามตามแนวทาง “เสริมพลังประชารัฐ” ของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เจริญเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นสำรวจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดย่อมและขนาดจิ๋วของชุมชน (SMCE -Small and Micro Community Enterprise) และ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs – Small and Medium Enterprises ) เพื่อลด “ต้นทุนพลังงาน” ในกระบวนการผลิตของชุมชน ที่มีการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ฟืน ถ่าน LPG ในกระบวนการผลิต เช่น ทอด นึ่ง อบแห้ง คั่ว ต้ม กลั่น โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน เพื่อต่อยอดสู่การเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมด้านการตลาด

จังหวัดสระแก้วและจังหวัดชัยภูมิ เป็น 2 จังหวัดตัวอย่าง ที่พลังงานจังหวัดได้ดำเนินการตามนโยบาย

จังหวัดสระแก้วได้ทำงานกับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรทับทิมสยาม 05 และกลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรทับทิมสยาม 05 ซึ่งแบ่งรูปแบบการสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้ชุมชนคือ

-กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรทับทิมสยาม 05 ได้รับการส่งเสริมโรงอบแห้งแสงอาทิตย์ ขนาด 3 x 4 เมตร เมื่อปลายปี 2558 จากเดิมก่อนที่จะมีการติดตั้งโรงอบแห้งแสงอาทิตย์ มีสมาชิกจำนวน 10 คน แต่ภายหลัง การติดตั้งแล้ว ทำให้กลุ่มสามารถที่จะแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร ขมิ้น ไพร และสมุนไพรอื่น ได้มากยิ่งขึ้น จึงทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 30 คน และต่อมาได้รับการส่งเสริมโรงอบแห้งแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก ขนาด 8 x 12.40 เมตร ภายใต้ความร่วมมือขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองไก่เถื่อน ซึ่งได้เริ่มใช้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2560 ทีผ่านมา จนขณะนี้ทำให้กลุ่มฯจะสามารถรับการสั่งสินค้าได้มากขึ้น

-กลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรทับทิมสยาม 05  ซึ่งได้รับระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ 2 จุดคือ จุดที่ 1 ระบบสูบน้ำขนาด 3000 วัตต์ ประกอบด้วย แผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 300 วัตต์/แผง จำนวน 10 แผง ปั๊มหอยโข่งขนาด 3 แรงม้าพร้อมอุปกรณ์ สามารถสูบน้ำได้ 5 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง สูบน้ำวันละ 5 ชั่วโมง รวม 25 ลูกบาศก์เมตรหรือ 2500 ลิตร/วัน โดยมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 18 ไร่ และจุดที่ 2 ระบบสูบน้ำแสงอาทิตย์ 2500 วัตต์ ระบบประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาด 250 วัตต์ จำนวน 10 แผง ปั๊มขนาด 1.5 แรงม้า สูบน้ำได้วันละ 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พื้นที่ได้รับประโยชน์ 20 ไร่

-กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรทับทิมสยาม 05 ตำบลคลองไก่เถื่อน อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว ได้รับรางวัลสุดยอดคนพลังงาน ระดับภาค สาขาวิสาหกิจลดใช้พลังงานยอดเยี่ยม (ภาคกลาง) และองค์การบริหารส่วนตำบลคลองไก่เถื่อน ตำบลคลองไก่เถื่อน อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว ได้รับรางวัล สาขาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดการพลังงานครบวงจรยอดเยี่ยม (ภาคกลาง) ในกิจกรรมการประกวด “สุดยอดคนพลังงาน” ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งทำให้เป็นที่ประจักษ์ว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรทับทิมสยาม 05 เป็นโครงการฯ ที่ทำได้จริง ใช้จริง และเห็นผลได้จริง อีกทั้งยังเป็นสถานที่สำคัญในการสร้างสินค้า OTOP แปรรูปสมุนไพรท้องถิ่น ให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง และจะเป็นการสร้างความเป็นอยู่ตามเศรษฐกิจพอเพียง ลดการพึ่งพาจากภายนอก พึ่งพาพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพ และสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

จังหวัดชัยภูมิ ได้ทำงานกับ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตข้าว GAP ตำบลโพนทอง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิต ข้าวฮางงอก และแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวฮางงอกผงชงดื่ม หรือผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องงอกผงชงดื่ม มีรูปแบบการสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้ชุมชนคือ

-ได้สนับสนุนเตาเศรษฐกิจประยุกต์แบบมณฑล 2 พร้อมอุปกรณ์นึ่งข้าวฮางงอก จำนวน 3 เตา มูลค่า 50,000 บาท ภายใต้งบประมาณโครงการเพิ่มสมรรถนะด้านการบริหารและจัดการพลังงานครบวงจร ในชุมชนระดับตำบล และโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก แบบพพ.3 ขนาด 8×20.8 เมตร งบประมาณโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในรูปแบบความร่วมมือระหว่างชุมชนกับกระทรวงพลังงาน ภายใต้งบประมาณ 1,190,210 บาท โดยกระทรวงพลังงานสนับสนุนงบประมาณ 70% หรือคิดเป็นเงิน จำนวน 833,147บาท และวิสาหกิจชุมชนสมทบ จำนวน 357,065 บาท หรือคิดเป็น 30%

ในกระบวนนึ่งข้าว ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการผลิตผลิตรภัณฑ์ข้าวฮางงอก และข้าวกล้องงอกผงชงดื่มนั้น เดิมชุมชนจะใช้เตานึ่งแบบเตาเหล็กสามขา ซึ่งทำให้ประสบปัญหาเรื่องประสิทธิภาพพลังงานที่ต่ำ คือต้องใช้ฟืนมากถึง 116 กิโลกรัม ต่อข้าว 600 กิโลกรัม แต่ภายหลังจากเปลี่ยนมาใช้เตาเศรษฐกิจประยุกต์แบบมณฑล 2 ช่วยให้สามารถลดค่าใช้จ่ายไม้ฟืนลงได้กว่า 50% หรือใช้ฟืนเหลือเพียงเพียง 52 กิโลกรัมต่อข้าว 600 กิโลกรัม หรือคิดเป็นจำนวนเงินที่ประหยัดได้ จำนวน 4,000 – 9,000 บาทต่อปี

ส่วนระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาะในการอบแห้งข้าวได้ครั้งละ 500 กิโลกรัม เพิ่มคุณภาพด้านความสะอาดในกระบวนการผลิต ลดการสูญเสียของวัตถุดิบข้าวเปลือก และช่วยให้สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นในฤดูฝนได้กว่า 30% ที่สำคัญการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนดังกล่าว สามารถลดรายจ่าย สร้างรายได้เพิ่ม และสร้างอาชีพเสริมที่มีความมั่นคง และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าวจากชาวนา ซึ่งจากเดิมที่ขายข้าวเปลือกได้ 15 บาทต่อกิโลกรัม ทำเป็นข้าวสารข้าวกล้องฮางงอกได้ 50 บาทต่อกิโลกรัม และแปรรูปเป็นข้าวผงชงดื่มได้ในราคา 480 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันช่วยให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้เสริมนอกภาคเกษตรเฉลี่ยเดือนละ 5,000-8,000 บาท

นับเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน เกิดเป็นเศรษฐกิจพอเพียง พลังงานเพียงพอ ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

Stay Connected
Latest News