“ขยะ” ไม่ใช่ปัญหาใหญ่เฉพาะคนในเมืองเท่านั้น แม้แต่บนพื้นที่สูง 1,200 เมตรอย่างดอยตุง ก็กำลังเผชิญกับปัญหาขยะล้นดอย วิกฤติของบ่อฝังกลบขยะกำลังจะเต็มกลายเป็นปัญหาของสวนรวมที่ทุกชุมชนต้องหันหน้ามาร่วมมือกันอย่างจริงจัง “โครงการจัดการขยะ” จึงเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยตั้งเป้าการลดขยะให้เป็น Zero Waste
ประชากรบนดอยตุงประกอบด้วย โครงการพัฒนาดอยตุง เทศบาลห้วยห้องไคร้ อบต.แม่ฟ้าหลวง ทั้ง 3 หน่วยงานนี้ผลิตขยะรวมกันวันละ 5 ตันหรือปีละ 2,000 ตัน เฉพาะโครงการดอยตุงผลิตขยะวันละ 200 -500 กิโลกรัม โดยขยะทั้ง 3 หน่วยงานจะนำมารวมกันที่บ่อฝังกลบซึ่งสร้างจากงบรัฐบาลเมื่อปี 2551 และขณะนี้หลุมฝังกลบขยะแห่งนี้กำลังจะเต็ม
การมองหาหลุมฝังกลบแห่งใหม่ ก็กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของชุมชนเช่นกัน เพราะคงไม่มีใครอยากให้ชุมชนของตนเองมีขยะกองโตมาทิ้งไว้หน้าบ้านและส่งกลิ่นเหม็นไปทั้งชุมชน
ดังนั้น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ผู้บริหารดอยตุง จึงนำร่อง “โครงการจัดการขยะ” เพื่อเป็น “ต้นแบบ” ในการเผยแพร่การจัดการขยะที่เริ่มจากโครงการแม่ฟ้าหลวง เพื่อต่อยอดไปยังชุมชนอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายการทำให้ขยะเหลือศูนย์
Zero Waste การทำให้ขยะเหลือ “ศูนย์” คือไม่มีขยะที่จะต้องทิ้งอีกเลย เป็นไปได้หรือไม่ เป็นงานที่ท้าทาย
“ดร.แจ๊ค”ธนพงศ์ ดวงมณี วิศวกรสิ่งแวดล้อม ศูนย์การเรียนรู้และเผยแพร่การพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ที่ถูกส่งให้มาดูแลโครงการนี้ เพราะเขามีประสบการณ์และเชี่ยวชาญการบำบัดน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลจากบ้านเรือน การเกษตรและอุตสาหกรรม, การบำบัดก๊าซชีวภาพ, พลังงานหมุนเวียน, การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่
ดร.แจ๊คเล่าว่า ก่อนจะมีโครงการนี้ก็มีความพยายามจัดการกับขยะมาหลายวิธีด้วยกัน แต่ทำอย่างไม่ต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาการเก็บขยะบนพื้นที่สูงคือ รถขยะไม่สามารถเข้าไปตามหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ลึกๆ ได้ ชาวบ้านหรือชาวเขาส่วนหนึ่งจึงต้องเผาขยะซึ่งก็กลายเป็นควันลอยขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศทำลายสิ่งแวดล้อม
สำหรับโครงการนี้ เป็นการบริหารจัดการขยะของพื้นที่โครงการดอยตุงทั้งหมดที่มีพนักงาน 1,700 คน โดยมีเป้าหมายคือ จะต้องไม่มีขยะที่ใช้ประโยชน์ได้ถูกทิ้งในบ่อกำจัดขยะ โดยเริ่มจากการทิ้งขยะให้ลงถังขยะที่แยกตามประเภทของขยะ เริ่มจากการปลุกจิตสำนึกให้เจ้าหน้าที่ทุกคนในโครงการฯหันมาใส่ใจเรื่องขยะ การทิ้งขยะตามถังที่แยกประเภทและปลุกจิตสำนึกในเรื่องการรักสิ่งแวดล้อม ดร.แจ๊คขยายความว่า
“ผมเคยบอกคนบนดอยว่า ถ้าคุณไม่แยกขยะ คนงานแยกขยะจะเหนื่อย โดยพาพวกเขามาดูงานและให้ลองแยกขยะดู ขยะ 1 ถุงจะต้องใช้เวลาแยกนานกว่า 10นาที แต่ถ้าเราแยกจากต้นทางเรียบร้อยจะลดเวลาการแยกขยะลงได้”
ขยะทั้งหมดของโครงการดอยตุงจะถูกนำมารวมกันอยู่ที่ “ศูนย์คัดแยกขยะ” ที่สร้างเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา และคัดแยกตามประเภท ดังนี้
-ขยะขายได้ หรือ ขยะรีไซเคิล เช่นขวดพลาสติก กระดาษ กระป๋อง ฯลฯ จะมีคนมารับซื้อถึงบนดอย
-ขยะประเภทย่อยสลายได้ นำไปเพิ่มมูลค่า เช่นเศษอาหารนำไปเลี้ยงหมู ส่วนเศษอาหารที่เหลืออยู่ในที่ล้างจานนำไปเป็นอาหารเลี้ยงแมลงวันลาย ซึ่งเป็นหนอนที่มีโปรตีนสูง เมื่อหนอนแมลงวันเติบโตก็นำไปเลี้ยงไก่อีกต่อหนึ่ง เป็นการทดแทนอาหารสัตว์ได้ หรือผักสดที่ทิ้งจากครัวก็นำไปเลี้ยงไส้เดือน เพื่อนำมูลไส้เดือนมาทำปุ๋ยต่อไป
–ขยะอันตราย เช่น แบตเตอร์รี่ สีทาบ้าน เป็นต้น ซึ่งมีไม่มากนัก จะเก็บรวมกันเพื่อจ้างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการขยะอันตรายมารับไปกำจัดตามกระบวนการที่ถูกต้อง
หลังจากเริ่มโครงการนี้มา 3 ปี ผลที่เกิดขึ้นคือ สามารถนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้ถึง 85 % ส่วนที่เหลืออีก 15 % ที่นำไปทิ้งใบบ่อฝังกลบคือ พลาสติกปนเปื้อนขยะที่ไม่มีใครรับซื้อ จึงต้องทิ้ง
แม้ว่าผลสำเร็จของโครงการจะขยับเข้าใกล้ Zero Waste ก็ตาม แต่ก็ยังไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากพลาสติกปนเปื้อนขยะยังไม่สามารถกำจัดได้ ดร.แจ๊คเล่าถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ว่า
“ ปี 2561 เราตั้งป้าจะใกล้เคียง Zero Waste มากที่สุด คือพยายามจะไม่ให้มีขยะฝังกลบอีกเลย โดยตอนนี้โครงการฯ ได้ค้นพบนวัตกรรมเครื่องล้างขยะพลาสติกที่ปนเปื้อนเศษอาหารจะถูกชะล้างจนสะอาด แล้วนำพลาสติกที่ได้ไปปั่นแห้ง แล้วนำมาอัดเป็นก้อน นำไปขายเพื่อนำไปทำเม็ดพลาสติกต่อไป ก็คงเหลือขยะที่ไม่สามารถกำจัดได้คือ ผ้าอนามัย และแพมเพิสซึ่งต้องทิ้ง สุดท้ายแล้วจะเหลือประมาณ 2 % ถือว่าเราเข้าใกล้ Zero Waste มากที่สุด ”
นอกจากนี้ในปี 2561 จะปรับปรุงพื้นที่ 2 ไร่ของศูนย์คัดแยกขยะ ให้เป็นอาคารบ้านดิน เพื่อใช้เป็นศูนย์อบรมที่สามารถจุคนที่เข้าอบรมเรื่องขยะได้ 50 คน และยังสามารถแปลงขยะให้กลายเป็นเงินที่นำกลับมาใช้บริหารจัดการศูนย์ได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเลย
“ที่ศูนย์คัดแยกขยะเป็นธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อสิ่งแวดล้อม มีเจ้าหน้าที่ 4 คน ซึ่งจะต้องใช้เงินในการบริหารจัดการปีละ 4 แสนบาท เงินเหล่านี้ได้มาจากการขายขยะแห้ง ขายปุ๋ยจากมูลไส้เดือน เอาน้ำหมักจากฉี่ไส้เดือนมาปลูกผัก พอผักโตก็ขาย นำเศษใบไม้มาใช้เป็นวัสดุปลูกเห็ด และวิธีการอื่นๆ ”
ภารกิจต่อไปของโครงการจัดการขยะคือ การเข้าไปช่วยชุมชนอื่นๆ ในเรื่องคัดแยกขยะอย่างจริงจัง , ดัดแปลงถังน้ำมันให้เป็นเตาเผาขยะแบบปิด เพื่อนำไปให้ชาวเขาในแต่ละหมู่บ้านใช้แทนการเผาแบบที่โล่งแจ้ง
ดร.แจ๊ค กล่าวทิ้งท้ายว่า “ขยะเป็นปัญหาระดับชาติ ในอนาคตจะหาบ่อฝังกลบยากขึ้น และขยะที่ใส่ลงในบ่อฝังกลบจะเกิดก๊าซมีเทนซึ่งส่งผลทำให้โลกร้อนขึ้น เราจึงต้องลดปริมาณขยะลงและนำขยะมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด”
ข่าวเกี่ยวข้อง
–เที่ยวกันเถอะ ! “สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 4” เทศกาลสร้างชุมชนยั่งยืน