สายการบินแอร์เอเชียและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นดีพี (United Nations Development Programme – UNDP) ร่วมลงนามประกาศความร่วมมือการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชียบอกบนเวทีว่า
“CSR Charity เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของไทยแอร์เอเชียตลอด 14 ปี ตลอดเวลาที่ทำไม่ต้องการสื่อสารออกมาข้างนอก ไม่ต้องการให้ใครเห็น แต่วันนี้ UNDP เห็นสิ่งที่ไทยแอร์เอเชียทำ และ UNDP เป็นจุดเริ่มต้น SDGs ที่นิวยอร์ค ซึ่งการร่วมลงนามวันนี้สะท้อนให้เห็นว่า ใครๆ ก็บินได้ ก็สามารถช่วยเรื่องของ SDGs ได้เช่นกัน”
ใครๆ ก็บินได้ มีคำตอบ 1+4 เรื่อง ถึงการเดินทางสู่ SDGs จาก สันติสุข คล่องใช้ยา ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย
ถาม : ใครๆ ก็บินได้ และบินคุ้ม คุณภาพครบ เพราะเราทำหน้าเชื่อมโยงการท่องเที่ยวให้กับผู้โดยสารอย่างไร
ตอบ : ทั้ง 2 คำถือเป็นนโยบายที่จะมาสนับสนุนโครงการการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่ง 14 ปีที่ผ่านมา เราให้บริการในประเทศไทย เราพยายามทำให้เรื่องการท่องเที่ยวเป็นเรื่องง่ายดาย สนุกสนาน เพราะเราเชื่อว่า เมื่อไปเที่ยวง่าย ก็จะเที่ยวกันเยอะ และเศรษฐกิจของประเทศก็จะตามมาดี
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำคือ ทำให้ค่าโดยสารประหยัด เปิดเส้นทางใหม่ๆ ให้มีที่เที่ยวใหม่ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกระจายฐานการบินไปจังหวัดต่างๆ เพื่อให้มีการท่องเที่ยวข้ามภาค หรือการท่องเที่ยวต่างประเทศตรงไปที่ จังหวัดอื่นๆที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ เช่น เชียงใหม่ กระบี่ ภูเก็ต พัทยา อู่ตะเภาก็สามารถที่จะให้นักท่องเที่ยวบินไปโดยตรงได้เลย หรือคนภาคเหนืออยากไปเที่ยวทะเลก็บินโดยตรงไปเลยอย่างเชียงใหม่บินไปภูเก็ต ไม่ต้องแวะกรุงเทพฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้การท่องเที่ยวง่ายขึ้น มากขึ้น
แต่ในเวลาเดียวกันเราก็ไม่ได้คิดเรื่องธุรกิจอย่างเดียว เราได้ตอบแทนให้สังคม หลายโครงการด้วยกัน เป็นประชาชนที่ดีของประเทศ เป็นลูกบ้านที่ดีในบ้านที่เราอยู่
เริ่มจากสิ่งที่เราถนัดก่อนคือ การนำคนจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง เรามีโครงการที่พาเยาวชนเด็กๆ ด้อยโอกาสจากภาคเหนือ ไปเห็นทะเลครั้งแรกที่ภาคใต้ทำกันมาต่อเนื่อง เราพาเยาวชนนักกีฬาไปแข่งต่างประเทศ หลายคน ที่ไม่มีกำลังพอที่จะไปหาประสบการณ์การแข่งขัน เราก็พาไป เรามีโครงการของศิลปินแห่งชาติทุกท่านเดินทางกับแอร์เอเชียฟรีตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเดินทางส่วนตัว หรือเผยแพร่วัฒนธรรมต่างๆ
จากการทำงานในสิ่งที่เราถนัดก็เข้าสู่โครงการต่างๆ 4 โครงการที่เราถือเป็นการเริ่มต้นกับ UNDP
ถาม : โครงการส่งเสริมการเดินทางอย่างเท่าเทียมกันหรืออารยสถาปัตย์ (Friendly Design) มีแนวคิดอย่างไร
ตอบ : เน้นการพัฒนาบุคลากรของสายการบินแอร์เอเชียเพื่อให้มีทักษะและความรู้เกี่ยวกับการให้บริการผู้โดยสารที่มีความต้องการพิเศษ รวมถึงการพัฒนารูปแบบการเคลื่อนย้ายและสิ่งอำนวยความสะดวกในสนามบินเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสารกลุ่มดังกล่าว
ถาม : โครงการสนับสนุนการเผยแพร่และสร้างการรับรู้เรื่อง SDGs ใช้รูปแบบใด
ตอบ : มุ่งเน้นการใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่คนทั่วไป ผ่านโครงการย่อยอื่นๆ เช่น การเพ้นท์ลายเครื่องบินเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น
ถาม : โครงการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย มาเกี่ยวข้องกับกับสายการบินแอร์เอเชียอย่างไร
ตอบ : สายการบินแอร์เอเชียจะร่วมสนับสนุนและสร้างการรับรู้ในเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์นกกระเรียนไทย ณ จ.บุรีรัมย์ โดยโครงการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจาก องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมมือกับ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการเพาะพันธุ์และปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ
ถาม : โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน ใช้ภาษาอังกฤษว่า Journey D มีแนวคิดอย่างไร
ตอบ : จุดเริ่มต้นมาจาก English on Air คือการสอนภาษาอังกฤษให้คนในชุมชน ต่างๆ เรื่องนี้มาจากที่ว่า การเป็นพนักงานสายการบิน จะต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษขั้นต้น โดยเฉพาะพนักงานต้อนรับบนเครื่องต้องได้ TOEIC 650 ขึ้น จากโครงการนี้ต่อยอดเป็น Journey D ซึ่งเป็นโครงการที่รู้จักกันดีในหมู่พนักงาน เราได้นำพนักงานของเราไปลงพื้นที่จริง คลุกคลีกับชาวบ้านจริงๆ กว่า 1 ปี
แนวคิดเรื่องนี้ของเรา เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมากขนาดนี้ เราต้องมีความรับผิดชอบในการที่จะดูแลการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้ดี เพราะหากนักท่องเที่ยวเข้ามามาก ไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ เท่ากับเราพาคนมาทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย นั่นคือแนวคิดแรก เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรที่จะทำให้การท่องเที่ยวไทยยั่งยืน เราจึงเลือกทำโครงการท่องเที่ยวชุมชนยั่งยืน ต่อยอดมาจาก English on Air ที่เราลงชุมชนอยู่แล้ว เราคิดว่าการท่องเที่ยวชุมชนจะสามารถพัฒนาการการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้ยั่งยืน
ยกตัวอย่าง การที่เราไปสอนภาษาอังกฤษ English on Air ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ชุมชนพูดภาอังกฤษได้เก่ง การสอนภาษาอังกฤษคือการสื่อสาร ให้ชุมชนมีศักยภาพในการสื่อสารมากขึ้น เมื่อสื่อสารได้ก็จะอธิบายให้นักท่องเที่ยวเข้าใจได้ว่า ควรจะทำตัวอย่างไร ควรจะใช้ทรัพยากรในการท่องเที่ยวอย่างไร เมื่อชาวบ้านสามารถสื่อสารกับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ก็จะอธิบายให้เขาฟังได้ว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ จะช่วยการพัฒนาการท่องเที่ยวได้
อีกจุดหนึ่ง การท่องเที่ยวชุมชน ทำให้ชุมชนสามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างเดิมได้ เขาสามารถใช้ชีวิตปลูกข้าว หรือทำการประมง ปลูกกาแฟ หรือทำอะไรต่างๆที่เป็นวิถีอยู่แล้วได้ตามปกติ โดยที่มีการท่องเที่ยวมาเสริม สามารถที่จะรักษารากเหง้าของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ชีวิตการเป็นอยู่ อาชีพ แต่สิ่งที่ได้เพิ่มมาคือ รายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ชุมชนจะมีเศรษฐกิจครัวเรือนดีขึ้น ลูกหลานที่ต้องออกไปทำงานต่างเมือง ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ก็สามารถที่จะอยู่ในพื้นที่เกิดของตัวเองได้ เป็นการรักษารากเหง้าของตัวเอง ขณะเดียวกันก็รักษาสภาพแวดล้อมและชุมชน เพราะคนเหล่านี้จะปกป้องพื้นที่ของตัวเองไว้
เราเลือก 4 หมู่บ้าน 4 ชุมชนเป็นโครงการนำร่อง จริงๆมีชุมชนเยอะ แต่ทั้งสี่เราสนิทจากโครงการ English on Air เราไปช่วยเรื่องการสื่อสาร เศรษฐกิจ ที่พัก โฮมสเตย์ การทำอาหาร สินค้า การจัดการเรื่องขยะ การตลาด การหาลูกค้า การประชาสัมพันธ์ รวมถึงการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ที่เขามีอยู่ ช่วยเขาเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้มีความน่าสนใจมากขึ้น
สันติสุขย้ำว่า สิ่งที่เราทำกับชุมชน ก็เข้ากับหลายข้อของ SDGs ซึ่ง UNDP ก็ช่วยเราในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เพราะเราเชื่อว่า ชุมชนยั่งยืน สังคมก็จะยั่งยืน ประเทศก็จะยั่งยืน เราก็หวังว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ