เสียงของผู้บริโภคเป็นเสียงที่ “ทรงพลัง” อย่างยิ่งต่อโลกธุรกิจทุกวันนี้ เพียงแค่ผู้บริโภคตระหนักถึงพลังของตัวเอง ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม และเรียกร้องให้องค์กรธุรกิจต้องแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมเพื่อยกระดับให้คุณภาพดีขึ้น ราคาถูกลง มีบรรษัทภิบาลและมาตรฐานทางจริยธรรม สุดท้าย ผู้บริโภคจะเป็นผู้ที่ชนะในที่สุด
มาดูกันว่า เมื่ออนาคตโลกเราก้าวสู่ความเร็วไวกว่าแสง หลายอาชีพกำลังจะตกงาน หลายธุรกิจกำลังจะสูญพันธุ์ มีการคาดการณ์ว่า
-ราว 6% ของงานที่มีอยู่ในปัจจุบันจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์อีกเพียง 5 ปี ข้างหน้า และจะเพิ่มขึ้นเป็น 47% ภายใน 20 ปี
-อุตสาหกรรมและธุรกิจที่จะนิยามโลกยุคใหม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาแล้ว
-วิธีคิดในการทำธุรกิจก็กำลังเปลี่ยนไปเช่นกัน เมื่อการวัดความโปร่งใสขององค์กรภาคธุรกิจ (Defence Companies Anti-Corruption Index) คือ เทรนด์ใหม่ที่กำลังมา
-ผู้บริโภคมีอำนาจกำกับพฤติกรรมภาคธุรกิจอย่างเข้มข้น
-ภาคธุรกิจจึงต้องคิดให้ละเอียด ในวันที่กว่า 70% ของผู้บริโภครุ่นใหม่จากทั่วโลก ไม่ได้ต้องการเพียงแค่สินค้าและบริการที่ดี แต่ต้องการมั่นใจว่า ภาคธุรกิจมีความโปร่งใสด้วย
– “ความโปร่งใส” กลายเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการทำธุรกิจในอนาคตอันใกล้ และความอยู่รอดของธุรกิจกลายเป็นเรื่องเดียวกับการสร้างสังคมที่ดีกว่า
ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค พลิกโจทย์ธุรกิจ “ดีพอ” ไม่พอถ้าแค่ดี (“Good Enough” Is Not Good Enough) โดย บริษัทที่ดีเกี่ยวข้องอะไรกับผลประโยชน์ของผู้บริโภค?
ลาร์ส ชวนผู้คนตั้งคำถามว่า คำว่า “องค์กรธุรกิจที่ดี” ของคุณคืออะไร และที่คนทั่วไปคิดว่าดีนั้น “ดีพอแล้วหรือยัง?” นี่คือคำถามที่เป็นจุดเริ่มต้นในการพลิกโจทย์ธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและสังคมของดีแทค
ดีแทคสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค พบว่าเมื่อพูดถึงองค์กรธุรกิจที่ดี ผู้บริโภคโดยทั่วไปมักจะนึงถึงบริษัทที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพดีและราคาถูก และมักมองข้ามการเป็นองค์กรธุรกิจที่ดี ในแง่มุมของการมีบรรษัทภิบาลที่ดี แข่งขันอย่างเป็นธรรม หรือแม้แต่กระทั่งปลอดการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องอะไรโดยตรงกับพวกเขา
แต่ดีแทคได้ “พลิกมุมมอง” ให้เห็นว่า ที่จริงแล้วองค์กรที่มีบรรษัทภิบาลที่ดี การแข่งขันอย่างเป็นธรรม และการปลอดการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นเรื่องเดียวกับ “คุณภาพ” และ “ราคา” เพราะองค์ประกอบมีส่วนช่วยสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีและราคาถูกได้ และไม่ใช่แค่ผู้บริโภคเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่สังคมโดยรวมยังดีขึ้นด้วย
สาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังไม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องมาตรฐานจริยธรรมที่สูงขึ้นจากองค์กรธุรกิจเป็นเพราะความเข้าใจผิด 3 ประการสำคัญ
ประการแรก เข้าใจผิดว่าการแข่งขันที่เป็นธรรมเกิดขึ้นได้เองโดยธรรมชาติและการผูกขาดการค้าไม่ได้ส่งผลเสียต่อธุรกิจ (Fair Competition Just Happens)
ประการที่สอง เข้าใจผิดว่าองค์กรธุรกิจที่ดีคือองค์กรที่ทำ CSR คืนให้กับสังคมเพียงเท่านั้น (Good Companies Plant Trees) ทั้งที่ในความเป็นจริง การทำธุรกิจอย่างมีบรรษัทภิบาลคือการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมในระยะยาว
ประการที่สาม เข้าใจผิดว่าการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ดีขึ้นเกิดขึ้นได้จากภาครัฐหรือผู้มีอำนาจเท่านั้น (Change Can Only Come from the Top) แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงจำนวนมากเกิดขึ้นจากพลังของผู้คนธรรมดา โดยเฉพาะพลังของผู้บริโภค
ลาร์ส ได้เน้นย้ำว่า นี่คือความหมายของคำว่า “ดีพอ” ไม่พอถ้าแค่ดี (Good Enough” Is Not Good Enough) และตอบโจทย์บริษัทที่ดี เกี่ยวอะไรกับผลประโยชน์ผู้บริโภค